ศอ.บต.ขับเคลื่อน โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพิ่มพื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย

  • photo  , 942x486 pixel , 100,196 bytes.
  • photo  , 798x464 pixel , 96,696 bytes.
  • photo  , 723x514 pixel , 89,272 bytes.
  • photo  , 721x438 pixel , 76,145 bytes.
  • photo  , 756x512 pixel , 93,656 bytes.

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมปัญจเพชร อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้ นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากร ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อม ตรวจเยี่ยม ติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยมี นายอับดุลฮาลิมบาฮี ตัวแทนคณะทำงานผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ตัวแทนหน่วยเฉพาะกิจ ผู้แทนนายอำเภอ หัวหน้าทีมครู ก. คณะกรรมการหมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 100 คน นายปรีชา ชนะกิจกำจร กล่าวว่า ตามที่คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้กำหนด Roadmap การขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. ภายใต้ 7 กลุ่มภารกิจงาน สำหรับกลุ่มภารกิจงาน ที่ 6 งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย พลเอก จำลอง คุณสงค์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้มีการผลักดันโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกของหมู่บ้านประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำสี่เสาหลัก และภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับนโยบายไปยังระดับปฏิบัติในพื้นที่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดหมู่บ้าน/ชุมชน มีการเสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย และเสริมสร้างการพัฒนาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งศาสตร์พระราชาสู่แนวทางการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน

    นายปรีชา ชนะกิจกำจร กล่าวอีกว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมการกำหนดรูปแบบแนวทางการติดตามและประเมินโครงการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีแผนการติดตามและประเมินผลในช่วงเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 40 หมู่บ้าน แบ่งเป็น จังหวัดยะลา 9 หมู่บ้าน จังหวัดปัตตานี 16 หมู่บ้าน และจังหวัดนราธิวาส 15 หมู่บ้าน หลักเกณฑ์การประเมินผลจากศักยภาพของกลไกและประสิทธิภาพการทำงาน การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส จุดเด่นและจุดแข็งของหมู่บ้าน และความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้าน ในการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และต้นแบบหมู่บ้านเข้มแข็งต่อไป

      นอกจากนี้ มีการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย/ชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ปี 2561 จำนวน 80 หมู่บ้าน โดยจะนำประสบการณ์ ความสำเร็จของการดำเนินงาน 40 หมู่บ้านในครั้งนี้ มาปรับใช้และเพิ่มศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

      ขอบคุณภาพข่าว สำนักประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.