เวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง

by jaruek @5 ส.ค. 52 10.31 ( IP : 117...107 )

การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม  จังหวัดตรัง

วันที่ ๓๐ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ณ ห้องประชุมวารีปาร์ค ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง

อารัมภบท

แสงเทียนโชติแจ่มประกายแสง
ฝ่าความมืดลมแรงระริกไหว
ละลายแท่งเปลี่ยนแปลงสู่เปลวไฟ
คือตัวตนเผาไหม้สลายตัว
สลายตัวเปล่งแสงแห่งความหวัง
สานพลังแสงนวลใยในสลัว
ดั่งปัญญาฝ่าผองภัยในมืดมัว
เพื่อพี่น้อง(…ชาวตรัง) ถ้วนทั่วสถาพร
เพื่อพี่น้อง(…ชาวตรัง) ถ้วนทั่วยั่งยืนนาน
ชัยพร  จันทร์หอม (30 กรกฎาคม 2552)

บทกวีที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสดๆ ในวงสนท่ามกลางเปลวเทียนที่กำลังเผาไหม้ตัวเองเพื่อส่องแสงสว่างให้กับคนทั้งวง พลันที่เสียงขับขานบทกวีอันไพเราะจากคุณชัยพร จันทร์หอม ดังขึ้น สามารถตรึงพลังแห่งความหึกเหิม และความเป็นหนึ่งเดียว กับการก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปสู่สุขภาวะ ของคนตรังได้เป็นอย่างดี หลังจากเหน็จเหนื่อยกับมาทั้งวัน และนี่คือ ก้าว ก้าวแห่งพลังของพี่น้องชาวตรัง

เข้าสู่เวที

เมื่อ วันที่ ๓๐ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมวารีปาร์ค ต.กะลาเส อ.สิเกา จังหวัดตรังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกลไกสนับสนุนการพัฒนาสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่/เฉพาะประเด็น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจังหวัดตรัง โดยวัตถุปรสงค์เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมให้กับแกนสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง และเพื่อปรับกระบวนการทำงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ของจังหวัด เวทีนี้มีผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ ๔๐คน หลากหลายทั้งสามภาคส่วน

ตรวจสอบตัวตน และทำความรู้จักเพื่อน

สาย ๆ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ผู้เข้าร่วมประชุมกำลังทยอยกันเดินทางมา ขณะที่เวลาใกล้ ๑๐ โมงเช้าขึ้นทุกที ผู้คนยังกำลังเดินทางอยู่ ทางคณะวิทยากรจึงตัดสินใจร่วมกับผู้จัดเพื่อเข้าสู่กระบวนการทันที ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมที่เหลือต่างทยอยเข้ามาจนเต็มในที่สุด การแนะนำตัวจึงเริ่มต้นขึ้น และจบสั้นๆ ด้วยคงวามคาดหวังที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ และรวมพลังชาวตรังกันด้วยบทเพลง “พลังใจ”

การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ

เนื้อหาของการจัดเวทีครั้งนี้ เริ่มด้วยการทำความเข้าใจ “ความหมายสมัชชาสุขภาพ” “ความหมายของนโยบายสาธารณะ” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างสมัชชาสุขภาพกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” โดยวิทยากร ผศ.ผศ.ดร.พงค์เทพ  สุธีระวุฒิ และ ดร.lรศักดิ์  บุญเทียน ได้ฉายวิดิทัศน์ เรื่อง กรณีศึกษา การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ให้ผู้เข้าร่วมเวทีชม ก่อนแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อค้นคำตอบตามโจทย์สามโจทย์ ก่อนแยกย้ายกันไปกินข้าวเที่ยง

ช่วงบ่าย เริ่มด้วยการเรียกน้ำย่อยทดสอบความเข้มแข็งด้วยเกมส์จากทีมวิทยากร ก่อนจะเปิดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเติมเต็มกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ รวมทั้งการออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพ โดยวิทยากรทั้งสองท่าน ก่อนที่จะให้ทั้งสามกลุ่มแยกย้ายกันลองหาปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือองค์ประกอบหลักของกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และลองออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพของจังหวัดตรัง และมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกครั้งก่อนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศรัย

ภาคค่ำ หลังจากอิ่มหนำสำราญกับรสชาติอาหารตามแบบฉบับชาวใต้แล้ว จึงเริ่มเปิดวงพูดคุยกันต่อ โดยทางผู้เข้าร่วมเวทีเสนอให้แบ่งเป็นกลุ่มตามประเด็นเพื่อลองออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพในแต่ละประเด็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มประเด็นบริโภคปลอดโรค ปลอดภัย ๒) กลุ่มประเด็นเด็กเยาวชน และครอบครัว และ ๓) กลุ่มประเด็นเกษตรปลอดภัย ส่วนกลุ่มประเด็นการพัฒนาคุณภาพบริการได้ขออนุญาตกลับไปก่อน (โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ เคลื่อนงานใน ๔ ประเด็นหลัก)

เดินตามรอยพ่อ….สร้างฝัน และพลังใจ

ก่อนจะแยกย้ายกันกลับเข้าที่พักของค่ำคืนนี้ ทีมวิทยากรได้เตรียมกิจกรรมเรียกความเป็นหนึ่งเดียวของพี่น้องชาวตรังไว้ โดยเริ่มต้นจากการฉายวิดีทัศน์ตามกิจกรรมที่ทุกคนร่วมกันมาตลอดทั้งวัน เมื่อวิดีทัศน์จบลงไฟทุกดวงในห้องประชุมดับสนิทลงทุกดวง ขณะที่เสียงอันเชิญพระราชนิพนธ์ “ตามรอยเท้าพ่อ” เริ่มดังขึ้น แสงเทียนเริ่มสว่างขึ้นทีละดวงๆ จากผู้คนที่นั่งล้อมวงเป็นวงกลม ขณะที่บทกวีเสียงอันเชิญบทกวีสิ้นสุดลง ไฟจากแสงเทียนจึงลุกโชติช่วงขึ้นเต็มวง พร้อมกับบท “เพลงเดินตามพ่อ” เมื่อสิ้นเสียงเพลงดังกล่าว วงสุนทรียสนทนาจึงเริ่มขึ้นท่ามกลางเปลวเทียนที่กำลังลุกโชติโช่วง ความประทับใจของผู้เข้าร่วมเวที และความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งบทกวีอันไพเราะ เปล่งออกมาจากผู้เข้าร่วมเวที ทีละคน ๆ จนครบทุกคน ขณะที่เพลง “พลังใจ” ถูกขับขานขึ้นอีกครั้ง ก่อนแยกย้ายกันนอนหลับฝันดี

ดังสายลมพัดผ่านลาญป่า  พาใบไม้พลัดถิ่น
ดังสายน้ำที่ใหลรินพัดพา  นำดวงใจฉันมาใกล้เธอ
ความหวังดีที่เธอให้สังคม  ฉันชื่นชมเธอเสมอ
*เพื่อพี่น้องผู้ที่ยากไร้  รวมดวงใจของเราฟันฝ่า
(คำร้อง, ทำนอง, ขับร้อง โดบ กิตติพงษ์  บุญประสิทธิ์ (ตี้ กรรมาชน)

เช้าวันใหม่

วันที่สองของการประชุมเริ่มขึ้นตามเวลา ๐๙.๐๐ น. การเริ่มต้นวันนี้เป็นการผ่อนคลายด้วยเกมส์ชวนคิด ที่เรียกว่า “เกมส์การสื่อสาร” ตามด้วยการฝึกนั่งล้อมวง (วงละ ๕ คน) เพื่อฝึกจิตสมาธิ ก่อนจะรวมพลังกันด้วยเสียงเพลง “พลังใจ” อีกครั้ง

ส่วนช่วงที่สองจึงเริ่มเข้าสู่เนื้อหาอีกครั้ง โดยการแบ่งกลุ่มเพื่ออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพของในแต่ละประเด็น และการปรับโครงสร้างการทำงานในแต่ละประเด็นให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยคราวนี้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรียนรู้ครบทั้ง ๔ กลุ่ม ก่อนจะนำมาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่อีกครั้ง

ช่วงบ่าย หลังจากอิ่มอร่อยจากอาหารเที่ยงแล้ว กองเลขาฯ จังหวัดตรังจึงได้ทำความเข้าใจกระบวนการสมัชชาสุขภาพของจังหวัดตรังให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้รับฟังอีกครั้ง ตั้งแต่การพัฒนาโครงการกับ สช. การเลือกประเด็น ที่มีการประชุมกับเครือข่ายเพื่อคัดเลือกประเด็น ทั้ง ๔ ประเด็น และมีการเปิดประเด็นอื่นๆ ไว้เพื่อการพัฒนางานต่อไป การลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เน้นไปที่การเคลื่อนงานในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ใน ๔ ประเด็นหลักก่อน รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมตามโครงการในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ ของจังหวัดตรัง ขณะที่ความท้าทายอยู่ที่ “การพัฒนาสู่อนาคต คนตรัง เพื่อคนตรัง” โดยการปัดฝุ่นยุทธศาสตร์ยังหวัดตรังที่มีการคิดมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมได้

อำลา..อาลัย

สามโมงเศษ กระบวนการในเวทีเสร็จยิ้นลง บทเพลง “พลังใจ” ถูกขับขานขึ้นกลางวงที่มีการส่งต่อความรู้สึกจากมือ...สู่มือ และจากใจ..สู่ใจ อีกครั้ง พลันที่เสียงเพลงจบลง ต่างทยอยกันยกมือไหว้ร่ำลากันทีละคนจนครบทุกคน ภาพแห่งความประทับใจจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วินาที ภาพห้องประชุมที่เต็มไปด้วยผู้คนกลับเหลือแต่ความว่างเปล่า กับทีมงานที่เหลืออยู่ไม่กี่คน นั่นคือ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

AAR และเสียงสะท้อนจากพื้นที่

หลังจากผู้เข้าร่วมประชุมได้เดินทางแล้ว พวกเรา (ทีมงานตรัง และคณะวิทยากร) ได้ล้อมวง AAR กัน มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กระบวนการดังกล่าวสามารถเคลียร์แนวคิดกระบวนการสมัชชาสุขภาพกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมให้เข้าใจตรงกันได้ (ผู้เข้าร่วมประชุมมีพื้นฐานเรื่องสมัชชาสุขภาพไม่เท่ากัน) แต่ควรเติมกระบวนการที่สร้างมิติทางจิตวิญญาณ และความมีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น

เรื่อง พร้อมภาพตามเอกสารแนบนะครับ

ขอบคุณครับ

จารึก  ไชยรักษ์

ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. 30310752-cb.pdf - Download