พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

กิจกรรมอบรมเยาวชนผลิตคลิปสั้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 23 ตุลาคม 2017
23
ตุลาคม 2017รายงานจากพื้นที่ โดย เครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง

วิธีการดำเนินงาน ประชุมเตรียมเพื่อวางแผนการจัดเวทีดังนี้ 1. ประสานวิทยากรสอนคลิปสั้นด้วยมือถือกลุ่มเฌอบูโด 2. ประสานสถานที่ บ้านไม้ริมแล บ้านตะโล๊ะสะมีแล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 3. เชิญกลุ่มเป้าหมาย เยาวชนจากชุมชนบางปูหมู่ที่  3
4. ซื้ออุปกรณ์การฝึกอบรม

สรุปกิจกรรมที่ 3 อบรมเยาวชนผลิตคลิปสั้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อบรมวันที่ 1 วันที่ 23 ตุลาคม 2560 เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม 2560 ณ บ้านไม้ริมเล ชุมชนตะโล๊ะสะมีแล ตำบลแหลมโพธิ์  อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  เยาวชนจากชุมชนบางปู  23 คน คณะทำงาน 9 คน วิทยากร 2 จำนวนทั้งสิ้น 34  คน คุณยะห์  อาลี หัวหน้าโครงการฯ ”ได้กล่าวเปิดและต้อนรับผู้เข้าร่วมอบม โดยเล่าความเป็นมาขององค์กรเครือข่ายวิทยุชุมชน เช่น การพัฒนาศักยภาพนักจัดรายการวิทยุเยาวชนแกนนำชุมชน, การเชื่อมโยงเครือข่ายวิทยุ, การผลิตรายการวิทยุและสารคดี และการพัฒนาพื้นที่ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และเล่าความเป็นมาโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานีว่า “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้ให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม เป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท ให้ภาคประชาสังคมเสนอโครงการมา ทางเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานีช่วยการระดมความเห็นและเขียนโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี  ให้กับชุมชนโดยเลือกพื้นที่ ชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นำร่อง วัตถุประสงค์ เพื่อให้ชุมชนบ้านบางปูเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเพื่อให้ชุมชนบ้านบางปูสามารถจัดการตนเองด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนรู้เรียนระหว่างสื่อมวลชนกับชุมชน เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำเรื่องราวของชุมชนบ้านบางปูเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ชุมชนและจังหวัดชายแดนใต้  ตลอดจนสร้างเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารชุมชน อบรมผลิตคลิบวีดีโอสั้นด้วยมือถือให้กับเยาวชนในชุมชน และผลิตรายการวิทยุ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สู่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ และทางเครือข่ายวิทยุเล็งเห็นว่า น่าจะเอาเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำแหล่งท่องเที่ยวด้วย มาเข้าอบรมในครั้งนี้ด้วย เพื่อจะได้ขยายพื้นที่ชุมชนเพิ่มอีก 5 ชุมชน
กิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว มีการสำรวจข้อมูลชุมชน การอบรมแกนนำการท่องเที่ยวการเป็น เจ้าบ้านที่ดีและ อบรมเยาวชนคลิปสั้นในครั้งนี้ แล้วยังมีกิจกรรมพบปะกับสื่อมวลชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดรายการวิทยุเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ และสุดท้ายเวทีประเมินและถอดบทเรียน สิ้นสุดโครงการนี้ ในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นให้ผู้เข้าร่วมแนะนำตัว และเขียนความรู้สึกความคาดหวังที่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ ความรู้สึกความคาหวังของผู้เข้าร่วม ความคาดหวัง 1. อยากให้ลงพื้นที่หลากหลายในชุมชนหรือต่างชุมชน  อยากให้สอนแบบง่ายๆ ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไปพอดีๆ หวังว่าโครงการในการอบรมครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาสื่อสำหรับเยาวชนเป็นอย่างมาก 2. เยาวชนรุ่นใหม่อยากให้มีการพัฒนาชุมชน สะท้อนภาพลักษณ์ที่สวยงามที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ 3. ได้วิธีการตัดต่อวีดีโอและเทคนิคถ่ายภาพที่ออกมาอย่างสวยงาม ต้องการให้สอนการแต่งภาพ การตัดต่อด้วยยกระดับเป็นมืออาชีพ เผยแพร่แล้วมียอดไลค์มาก 4. อยากให้พลังเยาวชนในพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวดีดีจากพื้นที่ อยากให้สื่อน้อยๆ ที่ได้สร้างในครั้งนี้ไปสู่สายตาของคนที่อยู่นอกพื้นที่จริงๆ 5. อยากให้เพิ่มเติมความรู้เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดี 6. มีความรู้มากแนวทางนำมาปฏิบัติ เกี่ยวกับตัดต่อด้วยโทรศัพท์ ด้วยมือถือ พร้อมด้วยพี่ๆ น้องๆ ทำความรู้จักกันอย่างจริงๆ จังๆ 7. อยากถ่ายรูปเป็น ตัดต่อวีดีโอเป็นแบบคนอื่น 8. เนื่องด้วยทางศูนย์พัฒนาของบางปูมีโครงการล่องเรือ ชมป่าโกงกาง แล้วเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณาแหล่งท่องเที่ยว การถ่ายวีดีโอต่างๆ ลงโซเซียล ทำให้คนดูรู้จักแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนของเรา 9. สิ่งที่คาดหวังกับกิจกรรมนี้ได้การตัดต่อและถ่ายรูปสวยๆ เพื่อลงในเรื่องราวชีวิตของตัวเองและแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ 10. อยากเอาเรื่องราวลงยูทูป การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ประสบการณ์ การถ่ายวีดีโอ การถ่ายภาพนิ่งให้สวยงามมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม 11. จะได้ความรู้ใหม่ๆ ในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อจะได้นำเสนอชุมชนของเราสู่อินเตอร์เน็ต และอยากให้พื้นที่ของเราได้รู้จักกันในมุมกว้างไปอีก 12. อยากให้เป็นที่รู้จัก มีคนอยากมาท่องเที่ยว และหวังให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสื่อสารให้ผู้อื่นได้    สนใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ 13. อยากเห็นสื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์มากขึ้นลดความรุนแรงของสามจังหวัดมากขึ้น

ความรู้สึก 1. ดีใจที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจในเรื่องการถ่ายรูปมากขึ้น 2. ขอบคุณเครือข่ายวิทยุและกลุ่มเฌอบูโดเป็นอย่างมาก ที่มาให้ความรู้ในด้านการสื่อสาร ตอนแรกไม่ชอบการตัดต่อ พอได้มาอบรม Mojo ก็ทำให้รู้สึกเปลี่ยนจากที่ไม่ชอบกลายเป็นชอบ เพราะการตัดต่อเป็นงานที่เพลิดเพลิน มีความสุข และจะนำความรู้ไปฝึก และนำไปพัฒนาต่อไป 3. ดีใจที่ได้เข้าร่วมเป็นโครงการแรกที่ท้าทายตัวเองด้วยการคิดสารคดีแล้วลงพื้นที่ด้วย เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และเราสามารถตัดต่อด้วยตนเอง และมีรูปภาพ ขอบคุณทีมงานที่สอนตัดต่อทำให้ได้เป็นแล้วมีความสุข 4. ดีใจที่มาวันนี้ ได้ความรู้กระบวนการในการทำคลิป ทักษะ ความเป็นเครือข่าย มิตรภาพ และมีผลงานออกมา 5. รู้สึกดี เสมือนตัวเองได้ค้นพบในสิ่งที่ขาดหายไป เหมือนได้มาเติมเต็มให้กับชีวิต ได้เห็นในสิ่งที่แตกต่าง 6. เป็นโครงการที่ดีมากและเกิดประโยนช์แก่น้องๆ ที่มาอบรมในครั้งนี้ สามารถนำไปทำต่อหรือเผยแพร่ต่อลงในโลกออนไลน์ 7. ความรู้สึกความเป็นกันเองที่เปรียบเสมือน พ่อแม่ พี่น้องเดียวกันถึงสีหน้าที่สื่อถึงความจริงใจ สอนรู้จักการอดทน จงมองความสำเร็จ สิ่งที่คิดว่ายากเมื่อเราลองทำเรารู้สึกว่าง่าย 8. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และขอบคุณโครงการอบรมครั้งนี้ได้ได้ให้ความรู้ การตัดต่อวีดีโอ ถึงแม้เวลาอันสั้นเพียงน้อยนิดก็สามารถทำให้พวกเราเชื่อมความสัมพันธ์กันได้ ถึงจะมาคนละท้องที่ก็ตาม หวังว่าพวกเราจะได้รับโอกาสในการอบรมครั้งหน้าและครั้งต่อไปอีก 9. ขอบคุณมากๆ ที่มอบความรู้ดีดี บริการเครื่องดื่ม และอาหาร ในการอบรมมีความสุขสนุกสนานมากๆ อาจารย์พี่ๆ ทุกคนใจดีมาก 10. ขอบคุณที่เราเข้าร่วมโครงการสื่อสาร การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งจากสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องดีดีที่ เราจะได้นำเสนอเรื่องของเราในโลกออนไลน์ เพื่อให้สังคมโลกภายนอกได้เรียนรู้สิ่งที่เราอยากบอก ถ้าเป็นได้อยากให้เพิ่มวันอีก สัก 2 หรือ3 วัน สำหรับเยาวชนตัดต่อถ่ายภาพเป็นสิ่งที่เยาวชนชอบ 11. เป็นโครงการที่ดีมากและเกิดประโยนช์แก่เด็กๆ ในสังคมยุคใหม่ อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกในรุ่นที่ 2 12. ความประทับใจในการอบรมครั้งนี้มีมากมาย สามารถ เปลี่ยนความคิด คนที่ไม่ชอบด้านไอทีกลายเป็นชอบ ชอบทีมงานเครือข่ายวิทยุและวิทยากรทุกคนเลย ทุกคนเป็นกันเองคุยแล้วรู้สึกดี อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกต่อไปหลายๆ รุ่น 13. สิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ได้รับประสบการณ์และความรู้ที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อนเป็นความรู้ที่ดีและมีประโยชน์ ได้รู้จักพี่ๆ น้องๆ อยู่ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นความรู้สึกที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด มันยากมาก ชอบมากเลยชอบจริงๆ สำหรับโครงการนี้ 14. จากการที่ได้เข้าอบรมในครั้งนี้รู้สึกขอบคุณมากๆ ที่มีโอกาสอยู่ร่วมกัน และผลิตสื่อที่ได้สอนให้มีความรู้แบบใหม่ๆ เกี่ยวกับทำวีดีโอด้วยมือถือ เพื่อกลับมาทำประโยชน์แก่สังคม 15. ได้ความรู้และประสบการณ์แบบหลากหลาย ทั้งจากการตัดต่อ การลงพื้นที่และประสบการณ์ของพี่ที่ผ่านมา จึงทำให้รู้ว่าชีวิตเราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดิมใช้ชีวิตแบบเดิมหรือตามรสนิยมในการหาความรู้
หลังจากนั้น คุณเพาซี ยะซิง วิทยากรหัวหน้าโครงการค่ายฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมระดับตำบลและการสื่อสารชุมชน ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมและได้แนะนำทีมวิทยากรที่จะมาสอนการผลิตสารคดีคลิปสั้นด้วยมือถือ MOJO mobile journalism
    คุณเพาซี ยะซิง วิทยากรการฝึกอบรมให้ความรู้ เรื่องการเรียนรู้สื่อใหม่และการรู้เท่าทันสื่อ “สถานการณ์ปัจจุบันโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราสามารถติดตามข่าวย้อนหลังได้ ก้าวสู่การสื่อสารยุค 4.0 ทุกคนสามารถสื่อสารเรื่องราวของตัวเองได้ เพราะการสื่อสารอยู่ในมือเรา และเผยแพร่สู่สาธารณะโลกภายนอกอย่างง่ายดายและรวดเร็ว การสื่อสารมวลชนบนมือถือเป็นรูปแบบใหม่ของการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสื่อใหม่ๆ ที่ผู้สื่อข่าวในปัจจุบันใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่มีการเชื่อมต่อด้านเทคนิค กระบวนการคิด ติดปีกความคิด เข้าโปรแกรม  เราได้เห็นพลังของสื่อ” วิทยากรได้เปิดคลิปสารคดีวีดีโอที่ไปถ่ายวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ไปจับปลา ตัวใหญ่ๆ ทำให้ได้สื่อมาว่าทรัพยากรในทะเลที่ปะนาเระและสายบุรี ยังคงอุดมสมบูรณ์ และความสวยงามของท้องทะเล คุณเพาซี ยะซิง ได้กล่าวอีกว่า “ถ้ามานำเสนอสารคดีในมุมลบ จะไม่มีใครมาท่องเที่ยวในพื้นที่อีก และตัวอย่างที่นำเสนอสารคดีที่ตันหยงเปา  อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กับการถนอมอาหาร เช่น การทำปลากุเลาแห้ง ปลาชนิดนี้มีราคาแพง จะต้องรักษาไว้โดยมาถนอมเก็บไว้ขาย ตอนมรสุมที่ไม่สามารถออกทะเลได้ เป็นการนำเสนอมุมบวก
หัวใจหลักของสื่อใหม่ ถึงแม้ไม่มีเสียง แต่เข้าใจทุกรายการ รู้เท่าทันสื่อ วิเคราะห์ได้ เข้าใจ เขาสื่ออะไร ต้องมีคอนเทนต์(เนื้อหา)  มีประเด็น มาสื่อสาร เช่น มะแอปอแนทำเรื่องของชุมชน น้องนาเดียที่บูกิตใช้เครื่องมือง่ายๆเช่น ทำกับโทรศัพท์ เยอะมาก มีเรื่องเล่า ที่พื้นที่มากมายให้เราเห็น เช่น ไส้กรอกข้าวที่บางปูมีหลายเจ้า การเผยแพร่ข่าวจากชุมชนของตนเป็นนักสื่อสารเรื่องราวชุมชน เพราะพลังของการสื่อสารอยู่ในมือเรา หากเราใช้เป็นและมีทักษะในการผลิตสื่อ และสามารถเพิ่มศักยภาพพัฒนากลุ่ม องค์กร ชุมชน และสังคมต่อไป สื่อใหม่คือการเข้าถึง ข้อมูล เนื้อหา ความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้ที่โต้ตอบระหว่างกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และการรวมตัวเป็นชุมชนที่แวดล้อมเนื้อหาสื่อนั้น คำมั่นของสื่อใหม่อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือทำให้เกิดการสร้างสรรค์ การเผยแพร่ การกระจาย และการบริโภคเนื้อหาสื่อ เป็นประชาธิปไตย ความคาดหวังของสื่อใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างเนื้อหาที่สดใหม่ และไร้ข้อจำกัดในเวลาจริง  ในภาวะเทคโนโลยีสารสนเทศ ก้าวกระโดดเช่นนี้ไม่มีใครเรียกตนเองเป็น มืออาชีพ ได้อย่างแท้จริง หากไม่ฝึกฝนตนเองเป็น Mobile journalism หรือที่เราเรียกว่า MOJO “ พลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ”   การผลิตสื่อ MOJO คือการลองประกอบสื่อเอง มีผลสูงสุดต่อความรู้สึกเท่าทันสื่อ ในอดีตการจะสอนการทำสื่อต้องใช้อุปกรณ์มากมาย ใช้ลักษณะการบรรยายว่าสื่อเขาทำกันอย่างไร มากกว่าการเปิดโอกาสให้ลงมือทำสื่อเอง ในรูปแบบประสบการณ์ตรง Mobile journalism  คือ การสื่อสารมวลชนบนมือถือ การสื่อสารยุค 4.0 ยุคที่ใครๆ ก็ผลิตสื่อได้ ทุกอย่างวัดที่ Content หรือประเด็นนั่นเอง ประเด็นก็คือ 1. สาระสำคัญ 2. ใจความสำคัญ
3. แก่นของเรื่อง หลังจากนั้นวิทยากรได้แนะนำอุปกรณ์ MOJO คือมี 1. โทรศัพท์มือถือ 2. ขาตั้งกล้อง 3. ไมค์ 4. ไฟ

วิทยากรได้แนะนำมาว่าการสื่อสารด้วยภาพวีดีโอๆ ต้องถ่ายแนวนอน ต้องถ่ายเป็นช้อตๆ การบันทึกเป็นช้อต ช้อตหมายถึงการเริ่มบันทึก เพื่อเริ่มเทปเดิน และเริ่มบันทึกจนกระทั่งกดปุ่ม Rec อีกครั้ง เพื่อเลิกการบันทึกแบบนี้เขาเรียกว่า 1 ช้อต ไม่ควรเกิน 10 วินาที ต่อ 1 ช้อต ส่วนใหญ่ใช้กับภาพ Insert รูปแบบการบันทึกเป็นช้อต
Long Shot มุมกล้อง เป็นการถ่ายภาพในระยะไกล เพื่อให้เห็นบรรยากาศ และส่วนประกอบในฉากแต่จะเน้นตัวแบบมากยิ่งขึ้นโดยลักษณะจะเป็นภาพขนาดเต็มตัว ตั้งแต่ศีรษะจนถึงส่วนเท้าเพื่อแสดงให้เห็นกิริยาท่าทางของตัวแบบในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ภาพระยะปานกลาง Medium Shot หรือ MS ภาพระยะปานกลางเป็นขนาดภาพที่ให้รายละเอียดของตัวแบบมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นภาพครึ่งตัวประมาณตั้งแต่หัวถึงเอว และจะเน้นที่ตัวแบบ ไม่เน้นฉากหลัง และรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น  ภาพขนาดนี้นิยมใช้กัน เราสามารถให้รายละเอียดได้มากไม่น้อยเกินไป จะได้เห็นท่าทาง และอารมณ์ สีหน้าของตัวแบบไปพร้อมๆกัน ภาพระยะใกล้ Close- Up หรือCU ภาพถ่ายระยะใกล้เพื่อเน้นวัตถุหรือบางส่วนของวัตถุขยายให้เห็นรายละเอียดเฉพาะของวัตถุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขจัดสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไปในการถ่ายภาพบุคคล จะเป็นภาพที่เห็นบริเวณศีรษะและใบหน้าของแบบ มีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น เช่น ริ้วรอยบนใบหน้า แววตา ส่วนใหญ่เน้นอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เป็นแบบ ที่สายตาและแววตา เทคนิคการถ่ายภาพวีดีโอ มุมกล้องบอกถึงความรู้สึก  มุมกล้อง การถ่ายภาพในมุมที่ต่างกัน มีผลต่อความคิดความรู้สึก สื่อความหมายไปยังผู้ดูได้ มุมกล้องแบ่งได้สามระดับ 1. ภาพระดับสายตา เป็นมุมที่มีความหมายตรงตามชื่อที่เรียก คือคนดู ถูกวางไว้ ในระดับเดียวกันกับสายตาของตัวละครหรือระดับเดียวกับกล้องที่วางไว้บนไหล่ของตากล้อง โดยผู้แสดงไม่เหลือบสายตาเข้าไปในกล้องในระหว่างการถ่ายทำ  มุมระดับสายตานี้ถึงแม้จะเป็นมุมที่เราใช้มองในชีวิตประจำวัน แต่ก็ถือว่าเป็นมุมที่สูงเล็กน้อย เพราะโดยปกติมักใช้กล้องสูงระดับหน้าอกที่เรียกว่า A chest high camera angle ไม่ใช่มุมระดับสายตา ซึ่งเป็นมุมที่คนคุ้นเคยกับการดูหนังบนจอใหญ่ที่ถ่ายดาราภาพยนตร์ให้ดูใหญ่เกินกว่าชีวิตจริง 2. ภาพมุมต่ำ LOW angle shot คือมุมที่ต่ำกว่าระดับสายตาของตัวละคร แล้วเงยกล้องขึ้นประมาณ 70 องศา ทำให้เกิดผลทางด้านความลึกของซับเจตหรือตัวละคร มีลักษณะสามเหลี่ยมรูปทรงเลขาคณิตให้ความมั่นคง น่าเกรงขาม ทรงพลังอำนาจ ความเป็นวีรบุรษ เช่น ช้อตของคิงคองยักษ์ ตึกอาคารสิ่งก่อสร้าง สัตว์ประหลาด พระเอก เป็นต้น 3. การถ่ายภาพมุมสูง High angle shot คือมุมสูงกล้องอยู่ด้านบนหรือวางไว้บนเครน ถ่ายกดมาที่ผู้แสดงแต่ไม่ตั้งฉากเท่า Bird eye view ประมาณ 45 องศาเป็นมุมมองที่เห็นผู้แสดงหรือวัตถุอยู่ต่ำกว่า ใช้แสดงแทนสายตามองไปเบื้องล่างที่พื้น ถ้าใช้กับตัวละครจะให้ความรู้สึกต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีความสำคัญ หรือเผยให้เห็นลักษณะภูมิประเทศหรือความกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิทัศน์เมื่อใช้กับภาพระยะไกล LS

หลังจากนั้น วิทยากร ได้สาธิต เทคนิคการถ่ายภาพอย่างง่ายๆ แต่สวย ใช้กฎสามส่วนให้เกิดประโยชน์ คือเส้น 4 เส้นที่วางตัดกันเป็น 9 ช่อง มีหลักง่ายๆ คือ วางตำแหน่งของวัตถุหลักที่จะถ่ายไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของโดยไม่ให้สิ่งนั้นอยู่ตรงกลางภาพ เพราะจะทําให้ได้ภาพที่เห็นดูน่าเบื่อ
ขั้นตอนการผลิตสื่อ 1. การเตรียมข้อมูลและวางแผน แหล่งข้อมูลอาจได้จากข้อมูลที่เป็นเอกสาร รูปภาพ หรือวัสดุ หรือข้อมูลจากบุคคลไม่ว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องกับเรื่องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ อย่าพอใจแค่หนังสือ 1 เล่ม หรือคนเพียง 1 คน และตั้งคำถามหรือสงสัยในข้อมูลนั้นซักถามให้มากที่สุดจนแน่ใจว่าไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ข้อมูลที่กว้าง ลึก และถูกต้องที่สุด 2. การคิดประเด็นการสื่อสาร • การจับประเด็น การพิจารณาว่าจะจับประเด็นใดมาใช้ในงานเขียนแต่ละชิ้นควรคำนึงถึง • แนวคิดของรายการหรือของงาน ( concept) ข้อมูลชิ้นเดียวกันอาจทำได้หลายรายการหรือแตกเป็นงานต่างๆ กันได้ ขึ้นอยู่กับแนวคิดของรายการว่ากำหนดว่าอย่างไร • ความสำคัญของประเด็นอะไรเป็นประเด็นหลัก อะไรเป็นประเด็นรอง ข้อมูลที่หามาได้ทั้งหมดสามารถแยกแยะออกมาเป็นประเด็นต่างๆ กัน เมื่อเลือกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรายการได้แล้วต้องคิดด้วยว่าประเด็นสำคัญใดบ้างที่ต้องใช้ประเด็นรองลงไปข้อใดที่ควรใช้ร่วมด้วยและประเด็นปลีกย่อยใดที่ตัดทิ้งได้ 3. การเขียนโครงเรื่อง การวางโครงเรื่องมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบความคิดในการนำเสนอเพื่อในการวางแผนการผลิตเป็นไปได้อย่างถูกต้องและรอบคอบ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของทีมงานและเพื่อความสะดวกในการพัฒนาบทสารคดี และการวางโครงเรื่องต้องมีแก่นเรื่อง(Theme)ที่ชัดเจน และเดินเรื่องทั้งหมดไปตามแก่นเรื่องนั้น และเป็นการร้อยเรียงประเด็นหลักกับประเด็นรองเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องไล่เรียงไปหาหลักหรือรองเสมอ แต่ให้คำนึงความเชื่อมโยง (Link)ของแต่ละประเด็นที่ร้อยเรียงกันให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องนำเสนอด้วยการบรรยายเสมอไป ควรนำเสนอด้วยรูปแบบอื่นๆ มาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้เรื่องมีมิติน่าติดตาม 4. การเขียนบท การทำสารคดีไม่ว่าจะเป็นรายการหรืองานผลิตทางด้านนี้ต้องเข้าใจว่า การเขียนบทเป็นงานเขียนเพื่อเล่าเรื่องควบคู่ไปกับภาพ เมื่อเขียนบทต้องคิดถึงด้านภาพ (ช้อต) เสมอว่า ภาพสามารถเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง ภาพเล่าเรื่องได้ชัดเจนหรือไม่ เมื่อเขียนบทต้องย้อนกลับไปอ่านทวนเป็นระยะเพื่อให้การเล่าเรื่องมีความต่อเนื่องและสละสลวย และการใช้ภาษาและถ้อยคำควรใช้ภาษาที่สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อนสื่ออารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นความสนใจของผู้ชมได้

ช่วงบ่าย
วิทยากรได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ไปถ่ายภาพนิ่งโดยแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่ม 6 หมู่บ้าน เพื่อนำภาพนิ่งมาเล่าเรื่องก่อนที่จะมาผลิตเป็นสารคดีด้วยมือถือ จนถึง 5 โมงเย็น         หลังจากนั้น เวลา 20.00 น. วิทยากรกระบวนการได้นำผู้เข้าร่วมสันทนาการ เล่นกันสนุกสนาน ใช้ไหวพริบ ให้ความรู้ Production  ของสมอง หลังจากนั้น ทุกกลุ่มก็มาตัดต่อภาพและมานำเสนอ เล่าเรื่องของภาพ ให้ทุกคนดูและวิจารณ์กัน และให้แต่ละกลุ่ม คิดประเด็นเรื่องเพื่อเตรียมข้อมูลและวางแผนที่จะทำสารคดีให้ทุกกลุ่ม วางแผนคร่าวๆ มาว่ากลุ่มตัวเองต้องการทำประเด็นอะไร ทั้ง 6 กลุ่ม มีชุมชนบางปู ชุมชนบ้านบาลาดูวอ  ชุมชนบ้านตะโล๊ะกาโปร์ ชุมชนบ้านบูดี  ชุมชนบ้านดาโต๊ะ  ชุมชนบ้านตะโล๊ะสะมีแล  แล้วมานำเสนอตอนกลางคืน         ทั้ง 6 กลุ่ม ได้ประเด็นดังนี้ 1.เรื่องส่าหร่ายที่บ้านบูดี 2.เรื่องการเดินทางเล่าเรื่องที่ยะหริ่ง 3.ติดตามเบื้องหลังการผลิตคลิปสั้น 4.ล่องป่าชายเลน อเมซิ่งบางปู 5.เรื่องขนมครกที่บางปู 6.เรื่องปลาแห้งที่บางปู


อบรมวันที่ 2 วันที่ 24 ตุลาคม 2560

เวลา 8.30 น.
คุณเฟาซี ยะซิง วิทยากรได้ทบทวนที่ได้ให้ความรู้เมื่อวาน หลังจากนั้นได้ให้ 6 กลุ่ม 6 เรื่อง ลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีคลิปสั้น  ให้ไปเก็บบรรยากาศและถ่ายภาพวีดีโอ สัมภาษณ์ ทุกกลุ่มก็ได้ไปเก็บข้อมูลจนถึง 14.00 น.

14.00 น. ทุกกลุ่มมาดูภาพและเลือกภาพที่ทำ check footage เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเรียบเรียงและตัดต่อ Post-Production
  หลังจากนั้นวิทยากรให้ทุกกลุ่ม ลองเขียนบทเบื้องต้น การเซพข้อมูล และการลงเสียง เมื่อทุกกลุ่มผลิตเสร็จแล้วให้ลงในไลน์กลุ่มก่อนเพื่อให้ทุกคนได้ดู และมาวิพากย์วิจารณ์กันจนถึงห้าโมงเย็น

18.30 น. ทุกคนละหมาดมัฆริบร่วมกัน หลังจากนั้นเป็นการบรรยาย หรือนาซีฮัตของ คุณมูฮํามัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้,  บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  ได้นาซีฮัตให้แก่เยาวชนว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้มางานนี้ เป็นโครงการที่ดีมาก และมันสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เยาวชนอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เอาแต่นอนทำอะไรไม่ได้ไม่เป็นเวลา เราทำงานด้านการสื่อสาร อิสลามสอนให้เราอดทน กว่าจะเป็นนักสื่อสารได้ต้องผ่านปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างนั้น เช่น บังเฟาซี กะอัสรา และกะยะห์ ต้องผ่านการอดทน การเรียนรู้  คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มี 3 อย่าง 1. ต้องมีความอดทน
2. ต้องมีพยายาม 3. ต้องเป็นนักสื่อสาร ที่รู้ทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยมือถือ และการสื่อสารต้องขยายพื้นที่การสื่อสาร ยิ่งในโลกสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่น่าเชื่อว่าคนในพื้นที่บ้านเราเติบโต ด้านการถ่ายภาพเยอะมาก แสดงว่ามันเติบโต ถ้าเราไม่สนใจ  อัลลอฮได้ตรัสในกุรอ่าน ว่า “อัลลอฮจะไม่เปลี่ยนแปลงประชาชาติใด นอกจากเขาจะเปลี่ยนแปลงตนเอง”  ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนตนเอง อัลลอฮจะปรับให้คนอื่นมาแทน คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ลุกขึ้นมาสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ มียาตีมทีวี  การสื่อสารมีอิทธิพลมาก การสื่อสารเปลี่ยนวิธีคิด ที่ชุมชนบางปู เยาวชนเติบโตเยอะ ถึงแม้จะมีเยาวชนติดกระท่อมบ้าง แต่จะไม่แยกจากกระบวนการสันติภาพ เช่น เมื่อก่อนโต๊ะครูสอนศาสนาด้วยการบันทึกเทป แต่เดี๋ยวนี้ลงยูทูป ในโซเซียลมีเดีย ไลฟ์สด”     คุณมูฮํามัดอายุบ ได้กล่าวอีกว่า “ การสื่อสารต้องขยายพื้นที่ ไปดูที่อื่นด้วย  ต้องพยายามและอดทน ทุกอย่างไม่ได้มาง่ายๆ  พ่อซื้อโทรศัพท์ให้ กับเราทำงาน แล้วซื้อโทรศัพท์เองมันต่างกัน  รอแต่งงานกับผู้หญิงรวย หรือผู้ชายรวย จะไม่มีการเผชิญหน้าใหม่ๆ การสื่อสารไม่เอาแบบนี้ จะถามก็กลัวเสียฟอร์ม กลัวเสียหน้า
การสื่อสารเป็นเครื่องมือและเป็นประโยชน์ เราต้องเป็นคนกลางๆ อย่าเกินไป มีแต่พวกเราไม่มีคนอื่น การเป็นกลางคุยได้หลากหลาย พูดได้หมดเป็นหลักทั่วไปและจะอยู่ได้นานและที่สำคัญเชื่อมกับคนอื่นได้ คุยได้ มีการบอกต่อได้ เครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ได้มีการแลกเปลี่ยน และเชื่อว่าข่าวสารเปลี่ยนคนได้ ไม่น่าเชื่อไปถ่ายทอดสดได้ทุกเรื่องทุกคนมีพื้นที่ เช่น ในโรงเรียน มีมัสยิด บ้าน เวลามีพื้นที่  การสื่อสารต้องไปเชื่อมกับคน  อะไรสำคัญ บอกต่อว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และขยายพื้นที่การสื่อสารให้มากขึ้น หลังจากนั้นให้เยาวชนได้ผ่อนคลาย กับการปิ้งย่าง และ นำเสนอชิ้นงานของแต่ละกลุ่ม เพื่อนำปรับปรุงแก้ไข ต่อไปจนถึง 5 ทุ่มจึงได้พักผ่อน


อบรมวันที่ 3 วันที่ 25 ตุลาคม 2560

เวลา 8.30 น.
คุณเฟาซี ยะซิง วิทยากรได้ทบทวนสิ่งที่แต่ละกลุ่มผลิตสารคดี คลิปสั้น เมื่อวาน หลังจากที่แต่ละกลุ่มตัดต่อชิ้นงานและลงเสียง และให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอ ชมสารคดีคลิปสั้นผลงานของเยาวชนเพื่อให้วิทยากรเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกครั้ง เพื่อให้สารคดีคลิปสั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เวลา 13.00 น. วิทยากรกระบวนการ นายอัสสาลาม มะแซ คณะผู้จัดจากเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี ได้เชิญท่านอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ท่านขอหลิด แซะอาหลี ผู้อำนวยการส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สวศ.ศอบต. และคุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอบเกียรติบัตรให้แก่เยาวชนที่ได้ร่วมฝึกอบรมเยาวชนผลิตคลิปสั้น โดยมีคุณยะห์  อาลี กล่าวรายงาน       หลังจากนั้นท่านอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ได้ให้โอวาทแก่เยาวชน ท่านได้กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่เห็นความสำเร็จของเยาวชนในวันนี้ เพราะเด็กและเยาวชนยังขาดโอกาส ในการศึกษาอีกมากในสามจังหวัดชายแดนใต้  เด็กในพื้นที่ 80% จะนิสัยเหมือนผม คือขาดโอกาสการศึกษาและฐานะยากจน และเติบโตมาสังคมไม่ค่อยยอมรับ โดยเฉพาะถ้าเรายากจน ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะร่ำเรียนขึ้นมาจนกระทั่งได้สำเร็จการศึกษาจนได้มาสมัครทำงานกับ ศอบต. ทำให้คนและสังคมยอมรับจนทุกวันนี้ และขอขอบคุณท่านบังยุบและกอ.รมน.ที่มุ่งมั่น ตั้งใจ เป็นผู้ให้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อัลลอฮ์ให้ผมได้รับใช้สังคม ผลักดันเยาวชนให้ได้รับพัฒนา ได้เป็นผู้นำ
ที่ผ่านมา ผมได้ดูแล โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้ ของท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก เห็นประโยชน์ที่คุ้มค่ามาก เพาะเมล็ดพันธ์ทุกเม็ดให้เจริญงอกงาม และเติมเต็มสิ่งที่ขาด ฝากให้เยาวชนตั้งใจเรียน เพื่ออนาคตวันข้างหน้า”           หลังนั้นคุณยะห์  อาลี หัวหน้าโครงการฯ ได้มอบของที่ระลึกให้กับท่านอารี ดิเรกกิจ ผู้อำนวยการประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ปิดการฝึกอบรมเยาวชนผลิตคลิปสั้นด้วยมือถือ  และเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
ข้อดี
1. ได้ร่วมกันทำงานระหว่าง สององค์กร เครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี  ร่วมกับ กลุ่มเฌอบูโด ทำให้ได้เพื่อนมากขึ้น มีคณะทำงานที่มากขึ้น ทำให้การอบรมราบรื่นไปได้ด้วยดี
2. เด็กและเยาวชนให้ความร่วมมือดี 3. สถานที่เหมาะสมเอื้อต่อการจัดเวทีอบรม 4. ระยะเวลาเหมาะสม 3 วัน 5. อบรมเด็กเยาวชนในพื้นที่ มีที่พักควบคุมง่าย 6. รูปแบบการจัดอบรมไม่ฟิตหรือเนื้อหาแน่นมากเกินไป สามารถเข้าถึงเด็กเยาวชนได้ดี

ปัญหาที่พบ 1.สันทนาการคนจัดกังวลเพราะมีเยาวชนหญิงมุสลิมที่เคร่งครัด 2 เยาวชนบางคนไม่มีมือถือ ทำให้ไม่ได้เรียนถ่ายภาพ และตัดต่อ บางคนยังเข้าใจเนื้อหาบทสารคดี หรือเข้าใจไม่มากนัก 3.เยาวชนบางกลุ่มข้อมูลในพื้นที่ล้น มีเนื้อหาเยอะ ทำให้จับประเด็นไม่ได้ ข้อมูลกว้าง 4.เยาวชนบางคนไม่กล้าพูดว่าไม่เข้าใจ ต่อไปเราจึงต้องสอนเริ่มจากขั้นพื้นฐานจริงๆ 5.วิทยากรบางครั้งสอนทฤษฏีเร็วเกินไป ทำให้ผู้เรียนฟังไม่ทัน ข้อเสนอแนะ 1.ไม่มีเยาวชนที่เป็นคนพุทธเข้าร่วมฝึกอบรม อยากให้มีคนพุทธมาฝึกอบรมด้วย 2.ต้องการให้มีการสัญจรพบกันอีกครั้ง และควรมีการอบรมหลายๆ รุ่น และพัฒนาต่อยอดงานด้วย
3.ต้องการให้แจกอุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือขากล้องเพื่อช่วยเติมเต็มให้กับผู้เข้าอบรม

circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

ผลคาดว่าจะได้รับและตัวชี้วัด ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ 1. เยาวชนตำบลบ้านบางปูสามารถผลิตคลิปสั้นด้วยมือถือได้และ 2. เป็นนักสื่อสารชุมชนได้นำเรื่องราวของชุมชน ด้านการท่องเที่ยว  จำนวน 23 คน เผยแพร่สู่สาธารณะ 3. เกิดชิ้นงานคลิปวีดีโอสั้น 10 ตอน เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ 1. เยาวชนเกิดความตระหนักหวงแหนและเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2. เกิดกระแสในโซเซียลมีเดียด้านการท่องเที่ยวทำให้คนมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 3. เกิดการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4. เกิดการมีส่วนร่วมของเยาวชนในตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีความร่วมมือกัน เกิดความสามัคคี ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันและเป็นหนึ่งเดียว

circle
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
จำนวน 34 คน จากที่ตั้งไว้ 34 คน
ประกอบด้วย

กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
เยาวชนจากชุมชนบางปู 23  คน  คณะทำงาน 9 คน และวิทยากร 2 คน รวมทั้งสิ้น 34  คน