พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

เวทีประเมินและถอดบทเรียนกิจกรรมโครงการ 14 ธันวาคม 2017
14
ธันวาคม 2017รายงานจากพื้นที่ โดย เครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง

วิธีการดำเนินงาน 1.ประสานวิทยากร 2.ประสานสถานที่ 3.ประสานผู้เข้าร่วมในพื้นที่ 4.จัดซื้ออุปกรณ์/เตรียมเอกสาร 5.จัดเวทีประเมินและถอดบทเรียนกิจกรรมโครงการ
6.สรุปผลกิจกรรม

สรุปกิจกรรมที่ 6 เวทีประเมินและถอดบทเรียนกิจกรรมโครงการ
ผู้ดำเนินการประชุม ได้เกริ่นนำกิจกรรมโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู และเรียนเชิญกำนันอับดุลมาหน๊ะ  สาและ กำนันตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี กล่าวเปิดการประชุมกิจกรรมประเมินและถอดบทเรียนกิจกรรมโครงการ       กำนันอับดุลมาหน๊ะ  สาและ  กำนันตำบลบางปู ได้กล่าวว่า ประสบการณ์การไปศึกษาดูงานกับกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี ที่จังหวัดสมุทรสงคราม สถานที่ๆ ไปดู  คือ ไปดูหิ่งห้อยที่อัมพวา ท่านกำนันได้เปรียบเทียบ ว่าพื้นที่ ตำบลบางปูสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์มากกว่า และหิ่งห้อยมีมากกว่าหลายเท่าตัว หลังจากกลับจากศึกษาดูงานเสร็จได้มีการประชุมทีมงาน  จนเกิดโครงการที่ทางชุมชนท่องเที่ยวอยากให้เกิด และได้นำเสนอให้กับจังหวัดถึงการจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ         และกำนันได้กล่าวว่า  นายโอฬาร บิลสัน นายอำเภอรับผิดชอบอำเภอยะหริ่ง และท่านเป็นผู้บุกเบิกพยายามผลักดันส่งเสริมสนับสนุนเรื่อง หิ่งห้อยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  และได้บอกว่าวันนี้ช่วงบ่ายกำนัน  นายอำเภอ  และเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวจังหวัดจะลงเรือไปสำรวจดูเกาะกามเทพ  เพราะเกาะนี้จะเป็นจุดประชาสัมพันธ์ในตำบลบางปู  อีกหนึ่งจุดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว  ต่อไปอาจมีการจัดเทศกาลการแต่งงานและมีการจดทะเบียนที่เกาะกามเทพแห่งนี้  หลังจากนันกำนันได้กล่าวเปิดการประชุมเป็นทางการ





คุณยะห์  อาลี  หัวหน้าโครงการฯ  ได้กล่าวแนะนำตัวและคณะทำงาน พร้อมทั้งได้ชี้แจงความเป็นมาของโครงการฯ และได้กล่าวว่า “เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี ได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก  ศอ.บต.  ในการทำงานในระดับพื้นที่  ซึ่งเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมและชุมชนจัดการตนเองด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนบ้านบางปูเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถจัดการตนเองด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนรู้เรียนระหว่างสื่อมวลชนกับชุมชน เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำเรื่องราวของชุมชนบ้านบางปูเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ชุมชน และจังหวัดชายแดนใต้  ตลอดจนสร้างเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารชุมชน อบรมผลิตคลิบวีดีโอสั้นด้วยมือถือให้กับเยาวชนในชุมชน และผลิตรายการวิทยุ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สู่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ”           คุณยะห์  อาลี ได้กล่าวอีกว่า “แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงเลือกพื้นที่ตำบลบางปูนำร่อง เพราะก่อนหน้านี้ เรามีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนที่ทำเรื่องท่องเที่ยว  และได้ไปพบปะแกนนำชุมชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโครงการฯ  หลังจากนั้นได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเป็นเจ้าบ้านที่ดี  และมีการอบรมศักยภาพเยาวชนในการทำคลิปสั้นในพื้นที่  ตามด้วยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสื่อมวลชน/สื่อชุมชน  และต่อด้วยกิจกรรมการจัดรายการวิทยุ  การดำเนินกิจกรรมทั้งโครงการเรามีการสรุปว่า ชุมชนได้อะไรบ้าง  และชุมชนเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในการดำเนินกิจกรรม

เวลา 10.30 น.
คุณมูฮำมัดอายุบ  ปาทาน  ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้  /บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บรรยายใน เรื่อง “ชุมชนกับการพัฒนาและการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน”     คุณมูฮำหมัดอายุบ  ปาทาน  ได้กล่าวว่า  มีประเด็นให้ชวนคิดเพื่อให้ชุมชนเกิดการคิดต่อ อยู่ 2 ประเด็น  ด้วยกันคือ 1. เรื่องของชุมชน  กล่าวคือถ้ามองเรื่องชุมชนในรอบ 4-5 ปี ที่ผ่านมา  มันมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะมาก เพราะการสื่อสารมันไปไกลและเร็วมาก ฉะนั้นเทรนการสื่อสาร  เทรนการท่องเที่ยว มันไปข้างหน้า  อาจจะชอบหรือไม่นั้นมันต้องมีการปรับในบางเรื่อ งเพราะการสื่อสารมันทำให้การท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวกับการสื่อสารต้องไปด้วยกัน  ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะมันมีความสัมพันธ์กันในชุมชน  คุณมูฮำหมัดอายุบ  ปาทาน ได้เน้นประโยคสำคัญ  คือ “ถ้าไม่พูดเรื่องการสื่อสาร  การท่องเที่ยวก็ไปไม่ได้  กลับกันถ้าไม่พูดเรื่องการท่องเที่ยวการสื่อสารก็ไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน” แต่ในอดีตคนบ้านเราไม่กล้าที่จะเรียนรู้ทักษะเรื่องการสื่อสาร  เพราะว่า  ไม่มีความรู้ในเรื่องคอนเทนต์(เนื้อหา) ว่าต้องสื่อสารแบบไหน  ทำให้คุณอัสรา  รัฐการัณย์ กับ คุณยะห์  อาลี เข้ามาช่วยสอนคนในชุมชน การท่องเที่ยวต้องการคนเพิ่ม  ต้องการคนมาดู  ต้องการคนใหม่ๆ มาเที่ยว  มาเยี่ยม  มาดูสิ่งดีๆ ในชุมชน เป็นเทรนที่เปลี่ยนไปและน่าสนใจ
 ผู้หญิง ถือว่าสำคัญเพราะผู้หญิงมักจะเป็นคนสื่อสารได้ดี  และมักเป็นคนที่พูดต่อได้ดี ดังนั้นถ้าจะมีการขยายการสื่อสารต้องมี target กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงที่มีจำนวนมากกว่าผู้ชาย  การสื่อสารเป็นการตลาดชนิดหนึ่ง ถ้าผู้หญิงพูดถึงบางปูมากเท่าไร  การตลาดการท่องเที่ยวก็จะขยายมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้ามองการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผู้หญิงมักชอบไปที่แบบนี้  และชอบมาแบบกลุ่มใหญ่ จะเห็นได้ว่าผู้หญิงจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้นต้องมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงให้คนรู้จักบางปู  จะทำอย่างไรนั้น และจะขยายการสื่อสารในกลุ่มผู้หญิงแบบไหน คือโจทย์ที่ต้องคิดต่อ  เยาวชน  เป็นกลุ่มคนที่มีความกล้าหาญ เป็นคนที่นำทางขบวนการท่องเที่ยวเยอะที่สุด  เพราะมีเครื่องมือที่หลากหลายกว่า  และมีพรรคพวก มีเครือข่าย ถ้าดูความเคลื่อนไหวทาง Social Media เช่น facebook  กลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่นำทางในเรื่องการท่องเที่ยว มีการสื่อสารอย่างรวดเร็ว  เป็นคนชอบแชร์  ชอบโพสต์  ทำให้สามารถช่วยสื่อสารเรื่องการท่องเที่ยวได้เยอะ การที่คนมาท่องเที่ยวในชุมชนบางปูมาก สิ่งที่ได้มากกว่าที่เห็นคือผลบุญที่จะได้รับในโลกหน้า  การบูรณาการ การสื่อสารเรื่องสภาวะแวดล้อม  เพราะการสื่อสารบ่อยๆ จะเห็นสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ  การสื่อสารจะทำให้เปลี่ยนวิธีคิดของคน เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารก็จะมีแต่คนใน  คนเดิมๆ เท่านั้นที่วนเวียนมาเที่ยว ไม่มีคนต่างจังหวัด ไม่มีคนต่างอำเภอ  ประโยชน์ของคนที่อยู่พื้นที่รอบข้างเราสามารถที่จะเป็นคนที่คอยช่วยเหลือแวดล้อมรอบข้างในเรื่องต่างๆ ได้  ต้องทราบว่าพื้นที่ใกล้เคียงมีอะไรดีๆ เด่นๆ บ้าง  เพราะมันจะคาบเกี่ยวให้เห็นบรรยากาศรอบข้างด้วย  ไม่ใช่เห็นเฉพาะ มัสยิดอัตตะอาวุลบางปู
 การท่องเที่ยวต้องอยู่ในระบบในกรอบ  ประเพณี  วัฒนธรรมของพื้นที่  เช่น  เกาะกามเทพ ไม่ควรจะไปจัดให้อยู่ใน  เดือนกุมภาพันธ์ เพราะมันคาบเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ที่เป็นความเชื่อของคนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม  ต้องเขียนให้ดีถ้าเขียนไม่ดี  จะเกิดความผิดพลาดตามมา ที่กล่าวมาข้างต้น  ถือเป็นองค์ประกอบในเรื่องการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว  แต่ที่ต้องเน้นหนักและให้ถือเป็นหลักยุทธศาสตร์สำหรับชุมชน  คือ ชุมชนต้องมีการเตรียมความพร้อมกับการประสบพบเจอเรื่องการเปลี่ยนแปลง และอย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้  เพราะการสื่อสารเปลี่ยนวิธีคิดของคน การสื่อสารกับการท่องเที่ยวมันแยกไม่ออก 2. เรื่องการสื่อสาร
ประเด็นนี้คุณมูฮำมัดอายุบ  ปาทาน เน้นว่า  “ชุมชนต้องเน้นหนัก”  เพราะสถานการณ์ถูกเปลี่ยนแน่นอนการสื่อสารเรื่องการท่องเที่ยวต้องคิดแบบใหม่ ชุมชนสู่การท่องเที่ยว  ถ้า 2 อย่างนี้ไปได้ทุกอย่างก็ไปได้ ข้อควรคำนึงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวชุมชน และต้องมีการสื่อสารทุกรูปแบบ  เช่น
1. การสื่อสารปากต่อปากแบบอานาล๊อค  คนในชุมชนต้องช่วยกันไม่ใช่เฉพาะอิหม่าม 2. การสื่อสาร Social Media ในมือถือในทุก Application เพราะมันเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเช่า ไมต้องลงทุน ไม่ต้องเสียงบประมาณอะไรใดๆ  เพราะถ้ารอจะให้ออกสื่อทีวี  ไม่มีทาง  และการสื่อสารต้องสื่อสารในที่อื่นๆ ด้วย  เช่น  ควรพูดคุยกับคนขับเรือด้วยว่า  เขาขับเรือดูแลนักท่องเที่ยวตลอดรอดฝั่งไปถึงจุดหมาย  เขารู้สึกอย่างไรบ้าง  มีความสุขขนาดไหนที่ได้พานักท่องเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจ สิ่งเหล่านี้ มันอาจจะไม่สำคัญ  แต่มันคือความรู้สึกเล็กๆ ที่ถ้าคนนอกได้รับรู้ ได้อ่านมันจะยิ่งใหญ่  และคนข้างนอกเขาอยากจะรู้ เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกจริงที่ทำให้คนข้างนอกอยากมา การล่องเรือสัมพันธ์กับคนขับเรือ และมันเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของการท่องเที่ยวของบางปู  จะเห็นได้ว่าการสื่อสาร 2 ทางเป็นสิ่งสำคัญ  ทั้งคนในและคนนอกจะช่วยขยายเอง 3. เยาวชนคนรุ่นใหม่  ต้องรู้จักเขียนบทความให้คนข้างนอกได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น  เขียนแผนที่ท่องเที่ยวให้เป็นโครงสร้างทั้งหมด  ทำเป็นแพคเก็จการท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากที่อื่น 4. ต้องคำนึงว่าพื้นที่  มีจุดขายที่เด่น  และน่าสนใจ ว่าหน้าหนาว  หน้าร้อน  หน้าฝน จะต้องเที่ยวจุดไหนอย่างไร บูรณาการทุกสิ่งให้คนรู้จักว่าบางปูมีอะไรบ้าง  เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว  ในอนาคต ไม่แน่บางปู  อาจจะมีการทำ Sky walk  แต่ทั้งหมดพื้นที่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในทางดีและสิ่งที่ไม่ดี (เช่น สิ่งเสพติด การผิดประเวณี) เกิดขึ้นมาในชุมชนให้ดี





คุณมูฮำหมัดอายุบ  ปาทาน ได้คำแนะนำเพิ่มเติม - อนาคตอาจจะต้องมีศูนย์การประชาสัมพันธ์ชุมชน
- ต้องมีโครงสร้างการท่องเที่ยว
- ต้องมีรายละเอียดและสร้างเป็นแพคเก็จการท่องเที่ยว - ต้องมีทีม Sale  การท่องเที่ยวต้องมีทีม Sale สื่อสาร คือ การขายอย่างหนึ่ง  และสิ่งที่ได้มามากกว่าที่เป็นรูปธรรมคือผลบุญ  และไม่ค่อยเห็นมีคนทำ  แต่การขายแบบนี้จะช่วยเราช่างน้ำหนักในการทำความดีในวันปรโลกได้ - ต้องประเมินตัวเองว่า  เรามีศักยภาพขนาดไหน  อย่าทำอะไรที่เป็นการเกินตัว  ทำในสิ่งที่เราทำได้ การท่องเที่ยวจะทำอย่างเกินตัวไม่ได้ และค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ - การท่องเที่ยวต้องมีการสื่อสารซ้ำๆ เรื่อยๆ  ต่อเนื่อง  เรียนรู้ไป  ปรับไป มันถึงจะมีความยั่งยืน

การถอดบทเรียนต้อง มี 4 อย่างที่เป็นสูตรสำเร็จในการทำงานกับพื้นที่ 1. ต้องหาพื้นที่
2. เชื่อมต่อ 3. บอกต่อ 4. เครือข่าย การมีพื้นที่สามารถเชื่อมคนได้  เมื่อไรที่เชื่อมคนได้เราจะมีการสื่อสาร/บอกต่อ  และจะมีเครือข่ายเพิ่มขึ้น

คุณมูฮำมัดอายุบ  ปาทาน ได้ให้ข้อสังเกตอนาคตได้อย่างน่าสนใจ  ดังนี้ - ถ้าความรุนแรงลดลง  การท่องเที่ยวจะมีคนพูดถึงขึ้นมาก พร้อมกับปัญหาสังคมที่มีความสัมพันธ์และคาบเกี่ยวกัน  แต่ถือว่ามันเป็นประโยชน์  ถือเป็นจังหวะที่ดี และต้องมีการช่วงชิง - หากว่าการท่องเที่ยวเฟื่องฟูในอนาคตรับรองว่าจะโดดเด่นกว่าการเมือง

หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ถามวิทยากร 1. เยาวชนจะเพิ่มทักษะการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารอย่างไรได้บ้าง? ตอบ ส่วนหนึ่งอาจเป็นหน้าที่ของทีมงานที่ต้องมีการต่อยอด และส่งต่ออาจต้องหาแหล่งเครือข่ายในการทำเรื่องนี้  เช่น กลุ่ม mojo  อาจจะเอาไปไม่ทั้งหมด  ตรงนี้ต้องมีการคัดสรรและเลือกเฉพาะคนที่มีความสนใจและมีแววในเรื่องนี้  ทีมงานอาจจะต้องมีฐานข้อมูลสักหน่อย เยาวชนต้องอ่านเพิ่มความรู้มากขึ้น  และต้องมีความกล้าเพราะความกล้า คือ หัวใจในการขยับตัวเองไปข้างหน้า  ต้องทำระบบเทรนนิ่ง  ต้องเรียนรู้ Application ใหม่ๆ  เพิ่มมากขึ้น  ต้องมีฐานข้อมูลของชุมชน  ต้องมีเว็บไซต์ที่เป็นของกลุ่มเองที่สร้างเอง  และต้องมีข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม ต้องมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยับและเปลี่ยนแปลง  ถ้ามีการสร้างข้อมูลในโลก Social ต้องมีช่องทางการโต้ตอบ ในการตอบคำถามหรือข้อสงสัยของลูกค้า, นักท่องเที่ยว 2. การที่จะสร้างร้านค้าภายในชุมชนต้องใช้งบประมาณเท่าไร? ตอบ เบื้องต้นสามารถสร้างเพจได้เอง  เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย  แต่ต้องมีการสื่อสารเรื่องของชุมชน ต้องมีเรื่องที่สร้างสรรค์ 3. หัวใจหลักของการสื่อสาร  อยู่ที่ไหน? ตอบ ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้สึกว่าน่าสนใจ การเชิญชวนให้คนอื่นทำสิ่งที่ดี  อย่าเพิ่งเบื่อง่าย  และท้อแท้  ต้องทำอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอและมีเครือข่าย             คุณมูฮำหมัดอายุบ  ปาทาน  ได้พูดถึงคนขับเรือในบางปู  ที่เป็นชีวิตเล็กๆ ของคนในชุมชน สำหรับคนขับเรือถือเป็นคนต้นทางจนถึงปลายทางที่สำคัญมาก ต้องมีการพูดถึงและนำเสนอถึงคนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน คนให้บริการถ้าพูดด้วยใจใครๆ ก็รับได้  และเชื่อว่าคนบางปูทำงานด้วยใจบริการ  ถ้าทำด้วยใจก็จะได้ความจริงใจกลับมา เพราะคนอ่านออกว่าจริงใจหรือไม่จริงใจ  จิตใจดี  ทำด้วยใจ  ผลบุญก็ตามมาและจะเกิดความประทับใจให้กับผู้มาท่องเที่ยว การท่องเที่ยวจะไปด้วยดีได้ต้องมีการเชื่อมต่อ ผู้นำชุมชน  ผู้นำศาสนา  ควรให้ความสำคัญและต้องมีการบอกต่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกัน  เพราะบางเรื่องมันเป็นเรื่องใหญ่กว่าคนอย่างเราจะทำได้ หลังจากนั้นคุณยะห์  อาลี  ได้สรุปทิ้งท้ายว่า  “เราจะต้องทำฐานข้อมูลเด็ก  เยาวชนในพื้นที่ การทำเว็ปไซต์  การขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่าย  ต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี คนขับเรือต้องมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  และมีใจที่จะบริการ  มีความจริงใจต่อกัน  การสื่อสารแหล่งท่องเที่ยวทำหรือโพสต์ในสิ่งดีๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น”
กิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อย คุณอัสรา รัฐการัณย์ ได้ดำเนินการอธิบายให้กับผู้เข้าร่วม มีหัวข้อของการหารือโดยให้ผู้เข้าร่วมเขียนเป็นภาพ แล้วบรรยายภาพที่เขียนในกระดาษ วาด ระบายสี (แล้วแต่กลุ่ม) โดยได้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประเด็นคำถาม ดังนี้
1. ได้อะไรจากกิจกรรมต่างๆ  ที่ผ่านมาในโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู  (อบรมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี, อบรมการทำคลิปสั้น)
สรุปได้ข้อคิดเห็น ดังนี้
- ได้ทำวีดีโอเรื่องราวภายในชุมชนเพื่อไปเสนอต่อผู้คนนอกชุมชนหรือคนนอกพื้นที่ - ได้เรียนรู้การทำ video ที่แปลกใหม่ - ได้ทำสารคดี  คลิปสั้นของชุมชนบางปู แล้วนำไปเผยแพร่ใน Social Media  ทำให้มีผู้คนรู้จักบางปูมากขึ้น  ทำให้บางปูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ทำให้ผู้คนเข้ามาและเป็นที่สนใจของผู้คนอีกหลายๆ คน - ทำให้ชุมชนได้มีการพัฒนา  และดึงดูดผู้คน ได้รู้จักชุมชนบางปูเพิ่มขึ้น - คนต่างถิ่นมองเห็นพื้นที่สีขาว  ลบคำสบประมาทว่าเป็นพื้นที่สีแดง

  1. ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

- ทำให้รู้จักวิธีการวางตัวต่อคนที่มาเยือนถิ่น - ผู้คนเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น จากการที่ได้เรียนอบรมจากโครงการฯ - ผู้คนเริ่มสนใจในการท่องเที่ยวชุมชนบางปูมากขึ้น  ทำให้ได้กระแสตอบรับอย่างดี - มีคนในและคนต่างถิ่นมาท่องเที่ยวที่นี่มากขึ้น - ทำให้คนต่างถิ่นได้รู้จักชุมชนมากขึ้น - เป็นชุมชนสะอาด  น่าอยู่  ทำให้ดึงดูดผู้คนได้มากขึ้น - ในเรื่องการท่องเที่ยว  มีผู้คนมากมายมาท่องเที่ยวภายในชุมชน  มาแต่ละครั้งเป็นทีมมากกว่าเป็นรายคน

  1. วาดฝันร่วมกัน (เขียนแผนที่ชุมชน) อาจจะคิดต่อว่าถ้าเราอยากทำการท่องเที่ยวในชุมชน  ใคร/หน่วยงาน/องค์กรไหนบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เราต้องอาศัยใครบ้าง








แต่ละกลุ่มนำเสนอ





กลุ่มที่ 1
- นำเสนอมัสยิดโดยมีทางเข้าและทางออก  โดยมีสินค้าของบางปู  มีศูนย์ประชาสัมพันธ์  มีฟิตเนส มีสนามหญ้าเทียม
- มีที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
- มีสถานพยาบาล - ฝั่งชุมชนเทศบาลจะทำเป็นฟาร์มแพะ  ให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมการให้หญ้าแพะ  ฝั่งจอดเรือจะเป็นจุดพักเรือทั้งหมดให้เป็นพื้นที่กลาง  ข้างที่จอดเรือจะเป็นร้านค้าพื้นเมืองที่เป็นของดีชุมชน - มีจุดขายเอาใจวัยรุ่น  แบบแฮนแมด - มีจุดร้านขายอาหาร  ปลาแห้งแปรรูป  เครื่องข้าวยำ - จุดดูดาว  มีการขึ้นเรือดูหิ่งห่อย  มีบังกะโลให้นักท่องเที่ยวเช่า  บังกะโลจะมีการสร้างสะพานผ่านน้ำ - มีฟาร์มสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา ฟาร์มปู  ได้เห็นถึงวิธีการเลี้ยง  มี แพะ  แกะ กระต่าย  อนาคตอาจจะเอาขนมาทำผลิตภัณฑ์ - มีสวนมะพร้าว จะมีสินค้าต่างๆ จากมะพร้าว  เช่นเยลลี่มะพร้าว  เค้ก คุกกี้ มะพร้าวแห้ง สินค้าประเภทของกินจะวางไว้ที่ปั้มน้ำมันด้วย
- มีจุดประชาสัมพันธ์ คุณอัสรา  รัฐการัณย์ ได้ตั้งคำถามกลุ่มว่า ถ้าอยากทำให้โครงการที่วาดฝันไว้ได้เกิดขึ้นจริง จะเริ่มเฟสไหนก่อน? แล้วคิดว่าควรจะมีใครเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง? กลุ่มที่ 1 ตอบ - จะเริ่มแถบมัสยิดก่อน และทำส่วนที่อยู่โซนทะเล
- คุยกับอิหม่าม  และกรรมการ  ก่อนอันดับแรก  และไปที่กับเทศบาล, อบต














กลุ่มที่ 2





กลุ่มบูนาดารา ตะโละกาโปร์
ข้อดีของตะโละกาโปร์  ตะโละกาโปร์เป็นทางผ่านที่จะไป  ตำบลแหลมโพธิ์  และถือว่าเป็นจุดเด่นของชุมชน เพราะถ้าประเมินจำนวนรถผ่านในแต่ละวัน  เคยนับได้ว่า 1 วันมีรถผ่านไป 1,000 คัน เมื่อมีนักเดินทางมากกลุ่มบูนาดาราต้องการให้เกิดตลาดน้ำ  วันนี้ได้คุยกับกรมทรัพยากรและกรมป่าไม้ ถือว่าสามารถทำได้แต่ตอนนี้ยังไม่มีงบประมาณ  แต่ก่อนตลาดน้ำปัตตานีเกิดได้แค่ 2 ปี ก็ดับลง เพราะว่าไม่ได้เกิดจากคนในชุมชน ไม่ใช่เกิดในชุมชน  และไม่ใช่คนในชุมชนบริหารเอง เวลาทำจึงไม่ใช่เกิดด้วยใจ แต่ถ้าชุมชนร่วมกันทำ จะทำให้คนในชุมชนต่างทำด้วยใจ
- อยากให้เกิดวัฒนธรรมชุมชนมากกว่าขายสิ่งของ
- อยากให้เกิดความสามัคคีด้วยการบูรณาการกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา
- อยากให้มีเวทีการแสดงพื้นบ้าน  อนาชีด  การแสดงซีละ  คนมาซื้อของซื้อน้ำ เสร็จก็สามารถไปชมการแสดง

การจัดการเราต้องให้โอกาสกับเด็กเพื่อเสริมความกล้าแก่เด็กให้เพิ่มมากขึ้น  ถ้าเด็กได้ทำในสิ่งดีๆ  ผู้ปกครองจะมีความภาคภูมิใจมาก  อยากฝากให้หน่วยงานช่วยหนุนโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพ

คุณมูฮำหมัดอายุบ  ปาทาน ได้เพิ่มเติมเสนอแนะ ว่า ถ้าคนข้างในเป็นคนพูดเอง  ถือว่ามีความน่าสนใจ  เพราะมันจะเห็นทิศทาง  มองไกล  เห็นภาพใหม่ไม่ใช่ภาพเดิม  ถ้ามีความกล้านำเสนอสิ่งใหม่ เราจะมีการเปลี่ยนแปลง จินตนาการสำคัญเพราะคนข้างในจะมีข้อมูล  โดยสภาวะแวดล้อม  ถ้าสังคมเปลี่ยนแต่เราไม่เปลี่ยน  เราจะต้องถูกปรับออกจากสังคม 

















กลุ่มที่ 3
อย่างแรกจะทำให้มีโฮมสเตย์  เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมักจะโทรมาถามว่าที่พักมีไหม จะทำโฮมสเตย์และรายได้บางส่วนจะมีการบริหารจัดการในการทำกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน  มีการทำตลาดน้ำเพราะบางปูจะติดกับถนนใหญ่ทำให้สะดวกในการเข้าถึง  ในตลาดน้ำจะมีการขายขนมพื้นบ้านที่คนในชุมชนทำกันสดใหม่ทุกวัน  และส่งเสริมให้คนที่ทำปลาแห้ง  นำมาขายที่ตลาดน้ำ ให้นักท่องเที่ยวแถวรอบอ่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ในส่วนของกรมป่าไม้  ถ้าจะทำเราต้องเข้าไปคุยเพื่อขออนุญาตเขาก่อน งบประมาณไม่ใช้เยอะ  เพราะโฮมสเตย์เราจะทำกับวัสดุธรรมชาติ  หลังหนึ่งใช้งบประมาณ 4 – 5 หมื่นบาท ถ้าให้เสนอ หน่วยแรกที่ต้องเสนอคือเทศบาล คุณอัสรา รัฐการัณย์ แนะนำในว่าช่วงระหว่างนี้ ในเบื้องต้นอยากให้ทางกลุ่มร่างโครงการขึ้นมาก่อน








กลุ่มที่ 4 เยาวชนหญิง





ตำบลบางปูมีพื้นที่กว้าง
- จะเจาะจงไปที่ป่าชายเลน  โดยทำรีสอร์ท  และแคร่  เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะชมบรรยากาศ - ทำ Sky walk เพื่อชมนกและวีถีชุมชนประมง  มีท่าเทียบเรือ  ในอุโมงค์จะมีร้านอาหารบุฟเฟ่  และขากลับจะมีจุดขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชมและซื้อ - มีของกินของชุมชนบางปู  เช่น ขนมบาดูกาตง  ไส้อั่ว  ก๋วยเตี๋ยวแฝดที่เป็นร้านนิยมของคนในชุมชนชอบแวะไปกิน - เฟสแรกที่คิดว่าเป็นไปได้  คือสินค้าโอท๊อป ซึ่งจะต้องไปคุยกับเทศบาล


คุณยะห์  อาลี  ได้กล่าวมีแนะนำว่า ทั้ง 4 กลุ่มที่นำเสนอ ถ้าร่างโครงการจะได้ 4 โครงการ  หากมีหน่วยงานใดเปิดโครงการให้เสนอโครงการ เราสามารถเอาโครงการที่ร่างนี้ไปนำเสนอได้เลย
คุณยะโกะ เวาะแห  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  กล่าวปิดเวทีประเมินและถอดบทเรียนกิจกรรมโครงการ       “รู้สึกขอบคุณอัลลอฮฺ  ที่ได้ทำให้บางปูเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้  โดยส่วนตัวเป็นคนที่ใช้เครื่องมือสื่อสารแค่โทรออกและรับสาย ยอมรับว่าไม่ค่อยมีความรู้มาก แต่มีความรู้สึกดีใจมากที่ได้รับทราบและเรียนรู้เรื่องการสื่อสารจาก ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้ฝากทิ้งท้ายก่อนทำการปิดพิธี  “อยากให้เยาวชนได้เรียนรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้น และบรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้  โอกาสนี้ขอให้อ่านดุอาขอพร และปิดกิจกรรมประเมินและถอดบทเรียน โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชนบางปู  อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี  ขอบคุณครับ”

ปัญหาอุปสรรค -  แกนนำชุมชนบางคนไม่กล้าที่จะพูดในเวทีประเมิน -  ผู้เข้าร่วมมาช้าทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการ ข้อเสนอแนะ - มีศูนย์ประชาสัมพันธ์ในชุมชน  มีสินค้าของชุมชนบ้านบางปูจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว  มีสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สนามหญ้าเทียม มีสถานพยาบาล และ มีที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
- ทำฟาร์มแพะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมการให้หญ้าแพะ
- มีจุดพักเรือทั้งหมดให้เป็นพื้นที่กลาง  มีร้านค้าพื้นบ้านที่เป็นของดี จะมีจุดขายเอาใจวัยรุ่น  แบบแฮนด์เมด มีจุดร้านขายอาหาร  ปลาแห้งแปรรูป  เครื่องข้าวยำ - มีบังกะโลให้นักท่องเที่ยวให้เช่า  มีการสร้างสะพานผ่านน้ำจุดดูดาว  มีการขึ้นเรือดูหิ่งห้อย
- มีฟาร์มสัตว์ต่างๆ เช่นปลา ฟาร์มปู  ได้เห็นถึงวิธีการเลี้ยง  มีแพะ  แกะ กระต่าย  อนาคตอาจจะเอาขนมาทำผลิตภัณฑ์ - สินค้าโอท๊อป มีสวนมะพร้าว จะมีสินค้าต่างๆ จากมะพร้าว  เช่นเยลลี่มะพร้าว  เค้ก คุกกี้ มะพร้าวแห้ง สินค้าประเภทของกินจะวางไว้ที่ปั้มน้ำมัน
      -  อยากให้เกิดวัฒนธรรมชุมชน มีเวทีการแสดงพื้นบ้าน  การแสดงอนาชีด  การแสดงซีละ
      -  อยากให้มีตลาดน้ำเพราะบางปูจะติดกับถนนใหญ่ทำให้สะดวกในการเข้าถึง  ในตลาดน้ำจะมีการขาย     ขนมพื้นบ้านที่คนในชุมชนทำกันสดใหม่ทุกวัน  นำมาขายที่ตลาดน้ำให้นักท่องเที่ยว
- ทำรีสอร์ท  และแคร่  เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะชมบรรยากาศ - ทำ Sky walk เพื่อชมนกและวีถีชุมชนประมง  มีท่าเทียบเรือ  ในอุโมงค์มีร้านอาหารบุฟเฟ่  และขากลับจะมีจุดขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชม เลือกซื้อ

  1. ข้อเสนอต่อพื้นที่

- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรสนับสนุนและต่อยอดกิจกรรมของชุมชนที่ได้มาร่วมรายการ เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลบางปู เพื่อทำให้คนในชุมชนมีรายได้ นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนก็เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

2. ข้อเสนอต่อหน่วยงาน - หน่วยงานรัฐควรสนับสนุนและต่อยอดกิจกรรมของชุมชนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น - รัฐควรเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน ทั้งเรื่องการดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาสินค้าโอท้อป





ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรมได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ผลสรุปตามตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่วางไว้ ลำดับ ชื่อตัวชี้วัด/เป้าหมาย 1. ชุมชนบ้านบางปูเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
2. ชุมชนบ้านบางปูสามารถจัดการตนเองด้านการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มมากขึ้น 3. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยชุมชน ด้วยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 4 คนในชุมชนบ้านบางปูเกิดความสามัคคี และทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

สรุปผลตัวชี้วัดด้านคุณภาพ - ผู้เข้าร่วมแกนนำชุมชน 4 เสาหลัก กลุ่มเยาวชน ชายและหญิง กลุ่มผู้ประกอบการเรือ ในตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ได้เรียนรู้และเข้าใจ  การบริหารจัดการตนเองด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ, เห็นคุณค่าของการหวงแหนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน, ได้เรียนรู้การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ทำให้รู้จักวิธีการวางตัวต่อคนที่มาเยือนถิ่น มาท่องเที่ยว, ผู้คนเริ่มสนใจการท่องเที่ยวชุมชนบางปูมากขึ้น  ทำให้เกิดกระแสตอบรับอย่างดีมีทั้งคนในและคนต่างถิ่นมาท่องเที่ยวที่นี่มากขึ้น
- การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนด้านการสื่อสารการผลิตสารคดีคลิปสั้น Mojo Mobile Journalism เล่าเรื่องราวของชุมชนบางปูแล้วนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ  ทำให้มีผู้คนรู้จักชุมชนบางปูมากยิ่งขึ้น  สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนบ้านบางปูเกิดการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และทำให้ชุมชนบ้านบางปูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ทำให้ผู้คนเข้ามาและเป็นที่สนใจมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนบ้านบางปูเกิดความสามัคคี และทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง  และสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้


circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ที่วางไว้ ลำดับ ชื่อตัวชี้วัด เป้าหมาย/จำนวน
หน่วยนับ

  1. เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเป็นนักสื่อสารชุมชน 80% คน
  2. สื่อมวลชนได้นำเรื่องราวของชุมชนบ้านบางปูเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ชุมชน  90% คน
  3. เกิดชิ้นงานคลิปวีดีโอสั้น เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต/การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านบางปู             10           ชิ้น

สรุปผลตัวชี้วัดด้านปริมาณ 1. เยาวชนเข้าร่วมโครงการผลิตคลิปจากชุมชนบางปู จำนวน 23  คน สามารถเป็นนักสื่อสารชุมชน ได้ 20 คน คิดเป็น 86% 2. สื่อมวลชนได้นำเรื่องราวของชุมชนบ้านบางปูเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ชุมชน
โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนบางปู จำนวน 15 คน ทั้งหมดได้นำเรื่องราวไปถ่ายทอดต่อ ในรายการวิทยุ, Live สด ผ่าน Facebook , Line กลุ่ม และ สื่อสารผ่าน Facebook ของทุกคน คิดเป็น 100%

สื่อมวลชนได้นำเรื่องราวในเวทีไปนำเสนอผ่าน รายการวิทยุ และ Facebook live ดังนี้
• รายการวิทยุร่วมแรงร่วมใจชายแดนใต้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี เวลา 15.00. - 17.00 น. โดย คุณเสาวณีย์ ดาโอ๊ะ และ คุณพัชรา ยิ่งดำนุ่น
• รายการ อสมท.เพื่อชุมชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท. เวลา 13.10 – 14.00 น. โดย คุณญารัชนี คงจันทร์ • รายการวิทยุเพื่อชุมชน ออกอากศทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี วันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 19.30 – 20.00 น. โดยดีเจซูเฮ็ง
• รายการ Sinarpetang คุยสบายๆ ยามเย็น  ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. จัดโดยดีเจซูเฮ็ง
• รายการเสียงวานีตา ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี วันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 19.30-20.00 น. จัดโดย คุณยะห์ อาลี ,  คุณหายาตี บูสะมัน ,  คุณวาซินีย์ แวโต • คุณยะห์ อาลี Live สด เวทีแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน ทาง Facebook Live ช่วงที่ ดร.สว่าง ทองไพ บรรยายพิเศษ
• คุณญารัชนี คงจันทร์ Live สด เวทีแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน ทาง Facebook Live บรรยากาศในเวที และสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมงาน
• สื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานทั้ง

  1. เกิดชิ้นงานคลิปวีดีโอสั้น เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต/การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านบางปู 14 ชิ้น
    เกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางไว้ 10 ชิ้น


ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน (เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานในปีต่อๆ ไป รวมถึงจะได้สรุปเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลในภาพรวมโครงการ) 1. ศอ.บต.ควรสนับสนุน ต่อยอดโครงการแนวนี้ หรือโครงการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชน เพื่อสนับสนุนชุมชนที่ต้องการการส่งเสริมการท่องเที่ยวและยังขาดโอกาสอยู่ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น
2. ศอ.บต.ควรสนับสนุน โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่ชุมชน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ และยังเป็นการส่งเสริมสันติภาพเชิงบวกให้กับพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย





circle
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
จำนวน 34 คน จากที่ตั้งไว้ 34 คน
ประกอบด้วย

ผู้เข้าร่วมจากชุมชน  27 คน  คน  วิทยากร  1 คน  และคณะทำงาน 6 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 34    คน