สู้ภัย -อยู่กับธรรมชาติ-หนี' ปราโมทย์ เปิด 3 สูตรแก้ปัญหาอุทกภัย

อดีตอธิบดีกรมชลฯ ย้ำศาสตร์ในหลวงต้องศึกษา ไม่ใช่นั่งมองเพดานแล้วเขียนแผน แนะให้นำหลักคิดไปต่อยอด จี้เลิกคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ยืนยันช่วยอะไรไม่ได้มาก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวในเวทีเสวนา “ศาสตร์พระราชากับการกู้วิกฤติชาติ” ที่จัดโดย คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (ศจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

นายปราโมทย์ กล่าวถึงศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนมาจากประสบการณ์ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น จนออกมาเป็นพระราชดำริ อันหมายถึง หลักคิด หลักธรรมหรือหลักทำ ที่เจ้าหน้าที่และประชาชน สมควรจะน้อมนำหลักคิดเหล่านั้นไปต่อยอด

“สิ่งที่พระองค์คิดและทำล้วนมาจากประสบการณ์ ไม่ใช่นั่งมองเพดานแล้วออกมาเป็นแผน เหมือนในสมัยนี้ ที่เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานมองเพดานแล้วเขียนแผน ในศาสตร์ของพระองค์ การจะคิดหรือทำอะไรต้องลงพื้นที่ ศึกษาจึงจะสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ไม่ใช่ลากจอบลากเสียมมาทำเลย”

นายปราโมทย์  กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหลักคิดไว้ครบหมดแล้วทุกด้าน แต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาไม่ได้นำมาปฏิบัติ ไม่รู้ว่าเป็น "ธรรมชาติในการบริหารแผ่นดิน" ไปแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ได้เน้นเหลือเกินว่าศาสตร์ของในหลวงควรต้องมีการต่อยอด เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุน้ำท่วมทุ่งก็โจมตีมาหลายปี ซึ่งในพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีของ มีเส้นทางระบายน้ำทางธรรมชาติ อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริไว้

“อย่างในปี 2538 ก็เอาอยู่ สามารถสู้สถานการณ์ได้โดยทางระบายน้ำธรรมชาติ กระทั่งวันนี้เมื่อเวลาผ่านไป 17 ปี กลับไม่มีการดูแล เคยใช้กระสอบทรายกั้นอยู่เช่นไร ก็ยังใช้อยู่อย่างนั้น เมื่อระบบอ่อนแอในขณะที่น้ำเข้าโจมตีจนล้นตลิ่ง คันกั้นน้ำพระราชดำริที่ไม่ได้รับการดูแลจึงต้านไม่อยู่”

นายปราโมทย์ กล่าวถึงการเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการกยน.ด้วยว่า ได้พยายามนำเอาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปนำเสนอ เพื่อให้นำไปคิดต่อยอด แต่ธรรมชาติของคณะกรรมการไม่ว่าจะชุดใด เรื่องใดก็ตามก็เป็นระบบที่ไม่รู้จะเรียกหรือบัญญัติว่าอย่างไรดี กรรมการนานๆ ทีจึงจะเข้ามาร่วมกันคิด ทั้งที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องเกาะติดทุกวัน

“เท่าที่เห็นมีแต่การพูด เช่น การมาประกาศว่าจะสร้างฟลัดเวย์ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและเผยแพร่ให้ชาวบ้านรับรู้ และในปีนี้ (2555) ทั้งเขตบางบัวทองหรือรังสิต สถานการณ์ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ขณะนี้ คือ ศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ของในหลวง ช่วยกันเชียร์และกระตุ้นพวกที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้นำไปคิดต่อยอด เพราะระบบราชการในวันนี้ไม่ถูกทิศถูกทาง เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้หมดสตางค์”

อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า การจัดทำพิมพ์เขียว เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำออกมาให้เป็นรูปธรรมแม้จะต้องใช้เวลา ซึ่งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอุทกภัย ควรยึดหลัก 3 สูตร ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์สู้ภัย คือ การเร่งขับเคลื่อนมวลน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว

“คลองที่ทุกคนรู้จัก คุ้นเคยและเป็นข่าวบ่อยๆ ในขณะนี้ ล้วนเป็นคลองแนวขวางเพื่อการเกษตร แต่คลองแนวดิ่งอันเป็นทางระบายน้ำลงทะเลกลับสูญหายและกลายเป็นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกทั้ง แผนต่างๆ ของรัฐบาลเท่าที่เห็นก็ยังไม่ชัดเจน เห็นแต่ตัวแผนแต่อธิบายไม่ถูก อย่างไรก็ตามในปีนี้ (2555) ประชาชนก็อย่าเพิ่งตกใจ ให้ติดตามสถานการณ์ไว้อย่างมีสติและใช้ปัญญารู้คิด อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เช่น กรณีการตื่นตัวเรื่องพ่อปลาบู่ ก็เรียกได้ว่าไม่มีสติ”

2.ต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับธรรมชาติ และสอดคล้องกับความเป็นไปของธรรมชาติเพราะการจะไปก่อสร้างการป้องกันขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น ควรจะเลิกคิดได้แล้ว เนื่องจากแก้อะไรไม่ได้มาก

3.การหนี ต้องประเมินสถานการณ์ ยิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่ตั้งถิ่นฐานผิด อยู่ในที่ต่ำทางผ่านน้ำ เช่น พื้นที่ที่น้ำป่าไหลหลาก ต้องมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ แต่สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เราจะร่วมกันสู้อย่างเต็มที่ หรือจะมัวสนใจความคิดว่าจะย้ายเมืองหลวง ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป

ที่มา http://www.thaireform.in.th/reform-the-news/item/7057-2012-02-02-09-33-07.html

Relate topics