ข้อเสนอใหม่จากชายแดนใต้ ประเด็นโครงสร้างปกครองยังมาแรง(2)

by chonpadae @17 ก.พ. 55 09.46 ( IP : 182...15 ) | Tags : จับกระแสสมัชชา

กลุ่มข้อเสนอทางเศรษฐกิจ
โดย อาจารย์สุวิทย์ หมาดจะดำ เป็นที่ปรึกษาต้องการให้มีคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งกรรมการดังกล่าวอาจประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด  พัฒนาชุมชน สาธารณสุข กรมการค้าระหว่างประเทศ  อปท.  คณะกรรมการกลางอิสลาม หอการค้า ตัวแทนสมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด องค์กรพัฒนาชุมชน ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ มาร่วม “ที่ประชุมเสนอให้ใช้สมัชชาสุขภาพจังหวัด ในการคัดเลือกคณะกรรมการสภา หน้าที่เพื่อจัดทำข้อเสนอ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”ตัวแทนของกลุ่มกล่าว และเผยว่าข้อเสนอของกลุ่มประกอบด้วย
1.เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการค้าชายแดน
2.พัฒนาการขนส่งทางบกและทางทะเล
3.จัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อรองรับการค้าเสรีอาเซียน เพื่อการแข่งขันในอนาคต
4.ยกระดับและพัฒนากลการตลาดภาคประชาชน เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งระดับพื้นที่ ประเทศ และนานาชาติ
5.ศึกษาและทบทวนกระบวนการการจัดตั้งกองทุนซากาต
6.เกี่ยวกับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค มีการพูดถึงร่าง องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาลชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคแต่ละจังหวัด  สคบ.จังหวัด สสจ.  อุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน ด่านศุลกากร เป็นต้น
“ เนื่องจากสินค้าหลายตัวที่เข้ามาจากมาเลเซีย ที่มีตราฮาลาล แต่พบว่ามีส่วนประกอบของหมูอยู่ด้วย จากการวิเคราะห์อาจเป็นสินค้าที่มาจากจีนเข้ามาเลย์แล้วส่งมาไทย โดยตัวแทนสมัชชาสุขภาพ จะเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในพื้นที่ ทั้งสินค้าในและต่างประเทศรวมทั้งตรวจสอบ สินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ” ตัวแทนกลุ่มออกมาขยายความ
7.ออกฎหมายรับรองสถานภาพสหกรณ์อิสลาม

          กลุ่มประเด็นสังคม ประเพณี วัฒนธรรมมีข้อเสนอดังนี้
1.ให้กระทรวงมหาดไทย และ อปท. จัดระเบียบสังคม และกำหนดพื้นที่ โซนนิ่ง แหล่งปลอดยาเสพติดและอบายมุข
2.กำหนดให้วันรายอฯ และวันสารทเดือนสิบ เป็นวันหยุดราชการ ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยให้เป็นประกาศของทางราชการ โดย ผวจ.สามารถลงนามได้
3.ให้วันสำคัญทางศาสนาของทุกศาสนา  เป็นวันที่งดเว้นการซื้อขายสุรา
4.ให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ประกาศ ให้ข้าราชการไม่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาอื่น
5.ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่ เกี่ยวข้อวงร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง
6.ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  /กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร มีส่วน เสริมสร้างสถาบันครอบครัว  ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยต่างๆ
7. ผลักดัน พ.ร.บ.ซากาต
8.ให้กระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาผู้นำศาสนา ในพื้นที่ 5 จังหวัด
9.ให้มีศูนย์วัฒนธรรมภาษามลายูท้องถิ่น
10.ทำแผนแม่บทพัฒนาสื่อมวลชนในท้องถิ่น โดยเน้นการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น
ข้อเสนอใหม่
1.ให้กระทรวงเทคโนโลยีและ การสื่อสารร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ควบคุม กำกับ ดูแลร้านเกม อินเตอร์เนท โดยควบคุมสื่อและเวบไซค์ที่เหมาะสม

          กลุ่มข้อเสนอประเด็นสุขภาพ ซึ่งมีข้อเสนอเดิมมี 4 ข้อ  ได้มีการเพิ่มเติมข้อเสนออีก11 ข้อกล่าวคือ
1.ให้ส่วนราชการ รัฐ และท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม เน้นมิติทางจิตใจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศรัทธา ความเชื่อของประชาชน ให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ
2.ให้ส่วนราชการ รัฐ และท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยอมรับการสร้างสุขภาพด้วยตนเอง การทำงานสุขภาพ ใช้บริบทพื้นที่เป็นฐานในการทำงาน มิติทางจิตใจที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
3.เพิ่มความเข้มแข็งภาคท้องถิ่น ด้านการส่งเสริมขบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน อย่างจริงจังโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ปรับโครงสร้างงบประมาณให้ยืดหยุ่น สอดคล้องกับ บริบทของพื้นที่ ส่งเสริมสุขภาพ ผ่านกองทุนสุขภาพตำบลอย่างเร่งด่วน
5.ส่งเสริมการแสวงบุญของ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ไปประกอบพิธีฮัจย์ และไปปฏิบัติธรรมที่อินเดียของชาวพุทธ
6.อปท.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการส่งสริมสุขภาพ เช่น สนามเด็กเล่น  ลานกีฬา
7.ส่งเสริม ให้ลูกจ้างในงานสาธารณสุขได้รับการบรรจุ
8.การคัดเลือกคนทำงานสาธารณสุขต้องมีมาตรฐานชัดเจน
9.ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญในการติดตาม กำกับ ดูแลการจัดการสุขภาวะของชุมชน
10.ควรทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA  ตามกฎหมายกำหนด
11. อปท. /จังหวัด ควรแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบ  ชุมชนท้องถิ่น เพราะมีโครงการมากมาย ไม่ได้ติดตาม ตรวจสอบ ว่าตรงตามนโยบายหรือไม่
หลังการนำเสนอของกลุ่มต่างๆ ตัวแทนพรรคการเมือง และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ขึ้นมาวิพากษ์และให้ความเห็น ต่อข้อมติข้อเสนอ

          นายนิพนธ์ บุญญามณี  ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าข้อเสนอจากเวที บางอย่างเป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่สามารถไปกระเพื่อมในเชิงนโยบายได้ “ประเด็นโครงสร้างการปกครอง  โดยเฉพาะมหานครปัตตานี ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถกกันมานาน การพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ต้องไม่สับสนกับเรื่องภูมิภาค กับท้องถิ่น คำว่ามหานคร มีการพูดถึงเมืองใหญ่ๆของประเทศไทย ซึ่งนี่คือที่เริ่มพูดกัน สำหรับมหานครปัตตานีอยู่ที่ความพร้อมของพื้นที่ มองว่าจะยุบรวม 3 จังหวัดเป็นหนึ่งหรือเปล่า ยุบ อปท. ทั้งสามจังหวัดให้เหลือ อันเดียว คือ มหานครที่รวมเอา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นองค์กรหนึ่ง นั่นต้องชัดเจนเสียก่อนเชิงพื้นที่  ว่าเป็นสามจังหวัด หรือรวม สี่อำเภอของสงขลา  ด้วยและ ถ้ามีมหานครปัตตานีแล้ว ยังมี อบจ.หรือไม่  ซึ่งเป็นเรื่องท้องถิ่น”
          นายนิพนธ์มองว่าการกระจายอำนาจ ทุกวันนี้ ยังถูกราชการส่วนภูมิภาคต่างๆ ได้ยื้อเอาไว้ เป็นปัญหาอยู่  แนวคิดมหานครปัตตานีที่พูดกัน เห็นว่ายังไม่มีอำนาจ ภารกิจที่ชัด ซึ่งในที่สุดจะไม่ต่างจาก อปท. คือ อบจ. “ความคิดผม ต้องให้มีการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคลง ท้องถิ่นให้มากขึ้นเดินหน้ากระจายอำนาจ ไม่ตกอยู่ในกลไกประจำมากนัก  ผมจึงต้องการภารกิจที่ชัดเจนของมหานครปัตตานีว่าคืออะไร ถ้าไม่ต่างไปจากการกระจายอำนาจเดิม ผมว่าต้องเดินหน้าการกระจายอำนาจ ไม่เช่นนั้นถ้าออกกฎหมายเฉพาะพื้นที่ การเข้าไปโหวตในสภาจะผ่านยากมาก เพราะต้องขอความเห็นจากทุกจังหวัดของไทย  เราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นมหานครปัตตานี  การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอนมากมาย  เพราะฉะนั้นต้องหาความเห็นพ้องของสังคมให้ได้ ซึ่งก็ต้องตอบคำถามสังคมได้ว่าทำไม มีความจำเป็นอย่างไร”
          เขาบอกว่าส่วนตัวสนับสนุนการเดินหน้าแนวทางกระจายอำนาจสำหรับเรื่องโครงสร้าง จะต้องไม่มีการส่งสัญญาณผิดๆออกมาจากผู้มีอำนาจ ในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสับสนจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น “คนที่ระแวงความเก่าๆ คนที่กลับมาแล้วจะกลับออกไปอีกหรือเปล่าถ้ามีปัญหา เพราะฉะนั้นอะไรไม่มั่นใจอย่าเสนอออกมา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การเน้นมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่ เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว”
          ประเด็นกระบวนการยุติธรรม เขาเห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอ โดยเฉพาะเรื่องร้องทุกข์จะต้องไม่ถูกเผยออกสู่สาธารณะ เพราะถ้าไม่สร้างความมั่นใจในการร้องทุกข์ คนไม่กล้าร้องทุกข์ นอกจากนั้นทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบและคุ้มครองผู้ร้องเรียนอย่างมีระบบ สร้างความเชื่อมั่นโดยให้คนมั่นใจระบบยุติธรรมในระบบ อย่าให้เกิดภาวะคนไม่เชื่อระบบจนเกิดอำนาจมืด หรือใต้ดิน จะทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก
          ทางการศึกษาเขาอยากเห็นทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาของรัฐอย่างทั่วถึง เสมอหน้ากัน โดยไม่เอาความยากจนมาเกี่ยวข้อง การศึกษาของรัฐที่จัดในภูมิภาคตรงนี้ต้องมีคุณภาพ ไม่ว่า ระบบสามัญ หรือ ระบบที่สอนศาสนาด้วยคู่ไปแต่ต้องมีคุณภาพ ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณแม้แต่ในอัตราก้าวกระโดดก็ต้องยอม เพราะชดเชยสิ่งที่ขาดมาในอดีตด้วย
          ด้านเศรษฐกิจมองว่า ศอบต.ต้องใช้กฎหมายในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ  และกล่าวว่าเกี่ยวกับภาษีปิโตรเลียม อย่างเขต เจดีเอ น่าจะตกกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนอย่างนราธิวาสด้วย
          สำหรับประเด็นการสาธารณสุขเห็นด้วยกับแนวทางป้องกันว่าดีกว่าการมุ่งรักษา และ  ฝากวาระกีฬา เข้าไปอยู่ ในวาระนี้ด้วยเพราะแก้ปัญหาอื่นๆเช่นยาเสพติดได้อีก
          ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี มองว่า ประเด็นการปกครองเป็นเรื่องที่ร้อนมาก ขณะนี้พี่น้องประชาชนตื่นตัวมาก สกัดกั้นไม่ได้แล้ว  เพราะประชาชนมีโอกาสเสนอกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายเยอะ แต่นำไปใช้ในทางกฎหมายน้อยมาก “รัฐบาลจะบอกว่าจะกระจายอำนาจ อย่างทั่วถึงภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกว้างๆ อย่างความคิดปัตตานีมหานคร ก็บอกว่ามาจากคนๆเดียว แสดงว่าไม่เอาปัตตานีมหานครแล้ว แต่จะกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ การเมืองก็เป็นอย่างนี้อยู่  อย่างแนวคิดว่าจะหยุดในวันตรุษจีน แสดงว่าจะต้องหยุดในวันสำคัญทางศาสนาอื่นด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผมจึงไม่ชี้รายละเอียด แต่ จะไปถึงจุดที่ว่า จะเป็นการปกครองที่กระจายอำนาจ ที่คำนึงถึงโครงสร้างของประชากร  นั่นจะทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้น”
          ประเด็นความยุติธรรมเขามองว่าตอนนี้มีกองทุนชดเชยต่างๆ เกิดขึ้น  แต่การเข้าถึงความยุติธรรม ยังน้อยมาก ไม่ถึงไหน จึงเกิดปัญหา  โอกาสสร้างความสงบสุขในชายแดนภาคใต้มี โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นตัวนำ  จึงควรทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เดินได้ พร้อมกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา ส่วนปลีกย่อย ไม่สามารถแก้ด้วยยุติธรรมอย่างเดียวแต่อาจแก้ด้วย องค์กรอะไรสักอย่างหนึ่งที่มองในองค์รวมได้
          ด้านการศึกษามองว่า การศึกษาที่นี่  ระดับประถมศึกษาโรงเรียนรัฐบาล 80 % โรงเรียนเอกชน 20%  แต่พอถึงระดับมัธยมปรากฏว่าเป็นโรงเรียนเอกชน 70 % รัฐ 20-30% ต้องดูตรงนี้ ด้วยเพราะจะพลิกโครงสร้างคงไม่ได้ แต่จะหลอมรวม หรือยืดอย่างไร  ต้องทำ เป้าหมายของชาติให้เขาเห็นร่วมกันว่าจะเดินอย่างไร ในจุดเดียวกัน
          ด้านเศรษฐกิจเขากล่าวถึงกองทุนฮัจย์  ซากาต ว่าจะอยู่ใน พรบ.แต่ละเรื่อง ต้องนำเสนอต่อไป ในสภาผู้แทนราษฎร
“เราพูดกันมาก ที่จะผลักดัน  กองทุนการออมแห่งชาติ มีประเด็นว่าประชาชนรวมกันออมเงินเท่าไร รัฐจะเพิ่มเท่านั้น โดยมีคณะกรรมการระดับชาติมาดูแล ตรงนั้นผมต้องการให้มีกรรมการบริหารธนาคารอิสลามมาดูแล เพราะจะรู้ว่าจะบริหารเงินส่วนนี้อย่างไรโดยไม่ผิดหลักอิสลาม”
          นายมูฮำหมัดซุลฮัน  ลามะทา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงโครงสร้างการปกครองรัฐบาลมองว่า ศอ.บต. เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แก้ปัญหาในสามจังหวัด รัฐบาลต้องกล้าคิดกล้าทำ เพื่อแก้ปัญหา การกระจายอำนาจต้องมองว่ากระจายอย่างไร ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
          กระบวนการยุติธรรม  มองว่าทุกวันนี้ทนายความทั่วไปไม่กล้าว่าความให้ผู้ต้องหา ถ้ามีกระบวนการชัดเจนจะแก้ปัญหาได้
          การศึกษา มองว่าปัญหาประเด็นแรกที่ต้องคือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ไม่มีเวลาเรียนครบตามหลักสูตร ครูไม่สามารถมาสอนได้ตามกำหนด  ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงมีอยู่จึงจะเป็นวาระเร่งด่วนในการแก้ไข เพื่อทบทวนเรื่องเวลาเรียน เรื่องนวัตกรรมต่างๆที่ยังขาดแคลนอยู่
          ด้านเศรษฐกิจ พรรคชาติไทยพัฒนากำลังร่าง พรบ.ซากาต ส่ง ให้สภาฯพิจารณา ถ้าเกิดขึ้นจริงจะช่วยเศรษฐกิจและกำลังผลักดันการวิจัยการตลาด สำหรับผลิตผลการเกษตรในพื้นที จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะพัฒนาอย่างไร
          ด้านสังคม วัฒนธรรมมองว่าวันหยุดทางศาสนา ถ้าประกาศ หยุดต้องหยุดทั้งประเทศ  ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัด แต่มีทั่วประเทศ ต้องทำเหมือนกัน นำเสนอให้มีการพัฒนาศักยภาพอิหม่าม โดยมีมีวิทยาลัยอิหม่าม  เพื่อปรับวุฒิทางการศึกษาให้อิหม่าม มีความรู้เพิ่มนอกจากทางศาสนา มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม

          นายมูฮำมัดอารฟิน จะปะกิยา จากพรรคมาตุภูมิ เสนอให้ถอนทหารที่มาจากพื้นที่ต่างจังหวัด ออกจากชายแดนภาคใต้ คงไว้ทหารในพื้นที่ ประเด็นยุติธรรม เห็นว่าน่าจะมีองค์กรชัดเจนที่ประชาชนศรัทธา เพราะทุกวันนี้ประชาชนวิกฤติศรัทธา คนของรัฐ เพราะไม่มีความมั่นใจต่อคนของรัฐ หรือกระบวนการยุติธรรม
          ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้เกิดศูนย์ฮาลาลโลก สนับสนุนกองทุนซากาต  ด้านวัฒนธรรม มองว่าควรเดินตามวิถีชีวิต ของคนพื้นที่โดยไม่ทำลายอัตลักษณ์  และด้านสุขภาพเสนอจัดตั้งสถาบันฟื้นฟูยาเสพติด

          คุณมยุเรศ อร่ามรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. มองว่า หลายเรื่อง ศอ.บต.ได้ดำเนินการแล้วอย่างการศึกษาเสนองบไปกว่าพันล้าน เพื่อพัฒนาเด็กให้แข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ มีโครงการภาษาอาเซียน ฝึกมาลายู กลาง จีน อาหรับ อังกฤษ  และการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น
          “การย้ายข้าราชการ เรามีอำนาจพิจารณาบุคคลที่ไม่เหมาะสม สร้างเงื่อนไข  ออกจากพื้นที่”.

ถนอม ขุนเพ็ชร์ ...เรียบเรียง

Relate topics