Topic List

55 items(1/6) 2 3 4 5 Next » Last »|
โดย วินิจ ชุมนูรักษ์ on 29 ส.ค. 56 14.33

แนวคิดการ จัดเวทีรับฟังความเห็น ของประชาชนในพื้นที่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา
          เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556    รศ.ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล  อธิการบดีม.สงขลานครินทร์  เชิญ ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผอ.สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ม.สงขลานครินทร์  ผศ.ดร.สุธรรม นิยมวาส ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาและอาจารย์ หารือบทบาทของ มอ. ในฐานะสถาบันทางวิชาการ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหาดใหญ่ กับการจัดสมัชชาเทศบาลนครหาดใหญ่
        อ.พงค์เทพ ทบทวนที่มาของการจัดสมัชชาประชาชน เทศบาลนครหาดใหญ่ ว่า ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ โดย นายไพร พัฒโน และคณะผู้บริหารต้องการจัดเวทีรับฟังความเห็น และรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผน โดยได้เชิญทาง อ.พงค์เทพ ไปหารือเรื่องกระบวนการ โดย ได้เสนอให้ใช้รูปแบบกระบวนการสมัชชา โดยเบื้องต้นได้มีการแต่งตั้งประธานสมัชชา โดยที นายสมพร ใช้บางยางอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานสมัชชา โดยแบ่งโครงการสร้างการดำเนินงานเป็นคณะอุกรรมการฝ่ายต่างๆ 4 ฝ่ายได้แก่ ผ่ายวิชาการ ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายจัดงาน และฝ่ายติดตามประเมินผลและขับเคลื่อน มีการออกแบบกระบวนการอย่างเป็นระบบ ทั้งในการเลือกประเด็น การจัดตั้งคณะทำงานในประเด็น การพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย การจัดเวทีรับฟังความเห็น การขับเคลื่อนและติดตา่มประเมินผล  มี กำนดการคร่าวๆในขณะนี้ วันที่ 26 กันยายน 2556 จะเป็นเวทีแรกที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จะจัดขึ้นโดยเป็นเวทีทำความเข้าใจกระบวนการ สมัชชาสุขภาพ และคัดเลือกประเด็น         โดยเป็นการหารือร่วมกันถึงบทบาท หน้าที่ ของทาง มอ.ซึ่ง ทางท่านอธิการได้ให้ความสนใจต่อ กระบวนการจัด และสถานการณ์สุขภาวะในหาดใหญ่ โดยเสนอให้มีการเริ่มต้นจากประเด็นทีี่นักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีการทำวิจัย สำรวจข้อมูลไว้แล้ว เช่น เรื่องน้ำท่วม เรื่องความปลอดภัย ทางท้องถนน และเรื่องปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ โดยทาง อ.สุธรรม ได้ให้ข้อมูลถึงนักวิจัย และสถานการณ์ ของแต่ละประเด็นเรื่องและรับจะเป็นผู้ประสานงาน ในการให้ทางนักวิจัยของ พัฒนาร่างข้อเสนอเพื่อนำเข้าในการจัดเวทีวันที่ 26 กันยายนนี้

โดย kannapat janthong on 1 ก.พ. 56 09.08

วันที่ 28 มกราคม 2556 เวลา 16.30 - 18.00 น.  ณ ห้องประชุมมูลนิธิป่าทะเลเพื่อชีวิต คณะทำงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สอรัฐ มากบุญ ผู้ประสานงานโครงการ จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมและแผนการทำงานในการจัดเวทีติดตามข้อเสนอเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น "การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง" ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีคณะทำงานเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จำนวน 8 คน

            ผลการประชุมได้มีการกำหนดจัดเวทีติดตามข้อเสนอเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 4 เวที ได้แก่ 1. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 พื้นที่ อ.พุนพิน อ.บ้านนาเดิม และ อ.เวียงสระ ณ ห้องประชุม อบต. ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม 2. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 พื้้นที่ อ.วิภาวดี และ อ.คีรีรัฐนิคม ณ ห้องประชุมที่ว่าการ อ.คีรีัรัฐนิคม 3. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 พื้นที่ อ.ดอนสัก และ อ.กาญจนดิษฐ์ ณ ห้องประชุม อบต. ท่าอุแท 4. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 พื้นที่ อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง ณ อาคารเอนกประสงค์ศูนย์เตือนภัยพิบัติแหลมโพธิ์

          ซึ่งผลการจัดเวทีติดตามและบรรยากาศในเวทีจะนำมาเสนอในครั้งต่อไป

โดย chonpadae on 21 ก.พ. 55 17.20

เมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมนานาบุรี อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร
เวทีสรุปบทเรียนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ปีงบประมาณ 2554
และวางแผนการขับเคลื่อนงาน ปีงบประมาณ 2555-2556 กลุ่มพื้นที่ภาคใต้

โดย chonpadae on 17 ก.พ. 55 10.38

พิธีปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ห้องประชุมอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

            นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีปิดการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 เรื่อง รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ ว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มาจากสังคมยังขาดความรู้ เช่น ระบบข้อมูลน้ำ การเชื่อมโยงระบบการจัดการน้ำ เพื่อที่จะนำไปสู่การคาดเดาเส้นทางเดินของน้ำ เมื่อไม่มีข้อมูลจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

            “ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากความรู้ เราจะแก้ไขไม่ถูกทาง เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะตัดสิน และยังไม่เห็นกระบวนการ”
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่อว่า สังคมยังไม่มีการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา ในขณะที่หลายพื้นที่มีการเก็บข้อมูล และเกิดการประสานงาน แต่ยังไม่เห็นหน่วยงานจากส่วนกลาง ประสานข้อมูลหรือบุคคลเหล่านี้มาถอดบทเรียน เพื่อขยายผลไปสู่ภาพรวมของประเทศ เห็นได้จากแผนการจัดการน้ำที่ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่เป็นการคิดมาจากส่วนกลาง ไม่มีส่วนร่วมจากพื้นที่ ทั้งระบบการจัดการน้ำ และพื้นที่รองรับน้ำ

            “ที่ผ่านมาระบบการจัดการน้ำ แก้ปัญหาด้วยความขัดแย้งเฉพาะหน้า เช่นเรื่องแนวกระสอบทราย”

            ผู้นำฝ่ายค้านฯกล่าวอีกว่า ปัญหาการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยต้องมีการทบทวนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการประกาศให้อพยพ ประชาชนจะไม่เชื่อ ขอดูก่อน ซึ่งจากนั้นรัฐบาลต้องเสียแรงงาน เพื่อจัดการอพยพหรือส่งอาหารให้กับผู้ที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้เสียพลังงานไปจำนวนมาก
            ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังเสนอให้ตั้งหน่วยงานนอกระบบราชการ เพื่อแก้ปัญหาการประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

ที่มา http://www.samatcha.org/?q=node/453

โดย chonpadae on 17 ก.พ. 55 09.46

กลุ่มข้อเสนอทางเศรษฐกิจ
โดย อาจารย์สุวิทย์ หมาดจะดำ เป็นที่ปรึกษาต้องการให้มีคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งกรรมการดังกล่าวอาจประกอบด้วยพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด  พัฒนาชุมชน สาธารณสุข กรมการค้าระหว่างประเทศ  อปท.  คณะกรรมการกลางอิสลาม หอการค้า ตัวแทนสมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด องค์กรพัฒนาชุมชน ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ มาร่วม “ที่ประชุมเสนอให้ใช้สมัชชาสุขภาพจังหวัด ในการคัดเลือกคณะกรรมการสภา หน้าที่เพื่อจัดทำข้อเสนอ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”ตัวแทนของกลุ่มกล่าว และเผยว่าข้อเสนอของกลุ่มประกอบด้วย
1.เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการค้าชายแดน
2.พัฒนาการขนส่งทางบกและทางทะเล
3.จัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อรองรับการค้าเสรีอาเซียน เพื่อการแข่งขันในอนาคต
4.ยกระดับและพัฒนากลการตลาดภาคประชาชน เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งระดับพื้นที่ ประเทศ และนานาชาติ
5.ศึกษาและทบทวนกระบวนการการจัดตั้งกองทุนซากาต
6.เกี่ยวกับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค มีการพูดถึงร่าง องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาลชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคแต่ละจังหวัด  สคบ.จังหวัด สสจ.  อุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน ด่านศุลกากร เป็นต้น
“ เนื่องจากสินค้าหลายตัวที่เข้ามาจากมาเลเซีย ที่มีตราฮาลาล แต่พบว่ามีส่วนประกอบของหมูอยู่ด้วย จากการวิเคราะห์อาจเป็นสินค้าที่มาจากจีนเข้ามาเลย์แล้วส่งมาไทย โดยตัวแทนสมัชชาสุขภาพ จะเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในพื้นที่ ทั้งสินค้าในและต่างประเทศรวมทั้งตรวจสอบ สินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ” ตัวแทนกลุ่มออกมาขยายความ
7.ออกฎหมายรับรองสถานภาพสหกรณ์อิสลาม

          กลุ่มประเด็นสังคม ประเพณี วัฒนธรรมมีข้อเสนอดังนี้
1.ให้กระทรวงมหาดไทย และ อปท. จัดระเบียบสังคม และกำหนดพื้นที่ โซนนิ่ง แหล่งปลอดยาเสพติดและอบายมุข
2.กำหนดให้วันรายอฯ และวันสารทเดือนสิบ เป็นวันหยุดราชการ ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยให้เป็นประกาศของทางราชการ โดย ผวจ.สามารถลงนามได้
3.ให้วันสำคัญทางศาสนาของทุกศาสนา  เป็นวันที่งดเว้นการซื้อขายสุรา
4.ให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ประกาศ ให้ข้าราชการไม่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาอื่น
5.ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่ เกี่ยวข้อวงร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง
6.ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  /กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร มีส่วน เสริมสร้างสถาบันครอบครัว  ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยต่างๆ
7. ผลักดัน พ.ร.บ.ซากาต
8.ให้กระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาผู้นำศาสนา ในพื้นที่ 5 จังหวัด
9.ให้มีศูนย์วัฒนธรรมภาษามลายูท้องถิ่น
10.ทำแผนแม่บทพัฒนาสื่อมวลชนในท้องถิ่น โดยเน้นการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น
ข้อเสนอใหม่
1.ให้กระทรวงเทคโนโลยีและ การสื่อสารร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ควบคุม กำกับ ดูแลร้านเกม อินเตอร์เนท โดยควบคุมสื่อและเวบไซค์ที่เหมาะสม

          กลุ่มข้อเสนอประเด็นสุขภาพ ซึ่งมีข้อเสนอเดิมมี 4 ข้อ  ได้มีการเพิ่มเติมข้อเสนออีก11 ข้อกล่าวคือ
1.ให้ส่วนราชการ รัฐ และท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม เน้นมิติทางจิตใจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศรัทธา ความเชื่อของประชาชน ให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ
2.ให้ส่วนราชการ รัฐ และท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยอมรับการสร้างสุขภาพด้วยตนเอง การทำงานสุขภาพ ใช้บริบทพื้นที่เป็นฐานในการทำงาน มิติทางจิตใจที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
3.เพิ่มความเข้มแข็งภาคท้องถิ่น ด้านการส่งเสริมขบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน อย่างจริงจังโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ปรับโครงสร้างงบประมาณให้ยืดหยุ่น สอดคล้องกับ บริบทของพื้นที่ ส่งเสริมสุขภาพ ผ่านกองทุนสุขภาพตำบลอย่างเร่งด่วน
5.ส่งเสริมการแสวงบุญของ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ไปประกอบพิธีฮัจย์ และไปปฏิบัติธรรมที่อินเดียของชาวพุทธ
6.อปท.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการส่งสริมสุขภาพ เช่น สนามเด็กเล่น  ลานกีฬา
7.ส่งเสริม ให้ลูกจ้างในงานสาธารณสุขได้รับการบรรจุ
8.การคัดเลือกคนทำงานสาธารณสุขต้องมีมาตรฐานชัดเจน
9.ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญในการติดตาม กำกับ ดูแลการจัดการสุขภาวะของชุมชน
10.ควรทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA  ตามกฎหมายกำหนด
11. อปท. /จังหวัด ควรแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบ  ชุมชนท้องถิ่น เพราะมีโครงการมากมาย ไม่ได้ติดตาม ตรวจสอบ ว่าตรงตามนโยบายหรือไม่
หลังการนำเสนอของกลุ่มต่างๆ ตัวแทนพรรคการเมือง และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ขึ้นมาวิพากษ์และให้ความเห็น ต่อข้อมติข้อเสนอ

          นายนิพนธ์ บุญญามณี  ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าข้อเสนอจากเวที บางอย่างเป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่สามารถไปกระเพื่อมในเชิงนโยบายได้ “ประเด็นโครงสร้างการปกครอง  โดยเฉพาะมหานครปัตตานี ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถกกันมานาน การพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ต้องไม่สับสนกับเรื่องภูมิภาค กับท้องถิ่น คำว่ามหานคร มีการพูดถึงเมืองใหญ่ๆของประเทศไทย ซึ่งนี่คือที่เริ่มพูดกัน สำหรับมหานครปัตตานีอยู่ที่ความพร้อมของพื้นที่ มองว่าจะยุบรวม 3 จังหวัดเป็นหนึ่งหรือเปล่า ยุบ อปท. ทั้งสามจังหวัดให้เหลือ อันเดียว คือ มหานครที่รวมเอา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นองค์กรหนึ่ง นั่นต้องชัดเจนเสียก่อนเชิงพื้นที่  ว่าเป็นสามจังหวัด หรือรวม สี่อำเภอของสงขลา  ด้วยและ ถ้ามีมหานครปัตตานีแล้ว ยังมี อบจ.หรือไม่  ซึ่งเป็นเรื่องท้องถิ่น”
          นายนิพนธ์มองว่าการกระจายอำนาจ ทุกวันนี้ ยังถูกราชการส่วนภูมิภาคต่างๆ ได้ยื้อเอาไว้ เป็นปัญหาอยู่  แนวคิดมหานครปัตตานีที่พูดกัน เห็นว่ายังไม่มีอำนาจ ภารกิจที่ชัด ซึ่งในที่สุดจะไม่ต่างจาก อปท. คือ อบจ. “ความคิดผม ต้องให้มีการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคลง ท้องถิ่นให้มากขึ้นเดินหน้ากระจายอำนาจ ไม่ตกอยู่ในกลไกประจำมากนัก  ผมจึงต้องการภารกิจที่ชัดเจนของมหานครปัตตานีว่าคืออะไร ถ้าไม่ต่างไปจากการกระจายอำนาจเดิม ผมว่าต้องเดินหน้าการกระจายอำนาจ ไม่เช่นนั้นถ้าออกกฎหมายเฉพาะพื้นที่ การเข้าไปโหวตในสภาจะผ่านยากมาก เพราะต้องขอความเห็นจากทุกจังหวัดของไทย  เราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นมหานครปัตตานี  การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอนมากมาย  เพราะฉะนั้นต้องหาความเห็นพ้องของสังคมให้ได้ ซึ่งก็ต้องตอบคำถามสังคมได้ว่าทำไม มีความจำเป็นอย่างไร”
          เขาบอกว่าส่วนตัวสนับสนุนการเดินหน้าแนวทางกระจายอำนาจสำหรับเรื่องโครงสร้าง จะต้องไม่มีการส่งสัญญาณผิดๆออกมาจากผู้มีอำนาจ ในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากสับสนจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น “คนที่ระแวงความเก่าๆ คนที่กลับมาแล้วจะกลับออกไปอีกหรือเปล่าถ้ามีปัญหา เพราะฉะนั้นอะไรไม่มั่นใจอย่าเสนอออกมา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การเน้นมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่ เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว”
          ประเด็นกระบวนการยุติธรรม เขาเห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอ โดยเฉพาะเรื่องร้องทุกข์จะต้องไม่ถูกเผยออกสู่สาธารณะ เพราะถ้าไม่สร้างความมั่นใจในการร้องทุกข์ คนไม่กล้าร้องทุกข์ นอกจากนั้นทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบและคุ้มครองผู้ร้องเรียนอย่างมีระบบ สร้างความเชื่อมั่นโดยให้คนมั่นใจระบบยุติธรรมในระบบ อย่าให้เกิดภาวะคนไม่เชื่อระบบจนเกิดอำนาจมืด หรือใต้ดิน จะทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก
          ทางการศึกษาเขาอยากเห็นทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาของรัฐอย่างทั่วถึง เสมอหน้ากัน โดยไม่เอาความยากจนมาเกี่ยวข้อง การศึกษาของรัฐที่จัดในภูมิภาคตรงนี้ต้องมีคุณภาพ ไม่ว่า ระบบสามัญ หรือ ระบบที่สอนศาสนาด้วยคู่ไปแต่ต้องมีคุณภาพ ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณแม้แต่ในอัตราก้าวกระโดดก็ต้องยอม เพราะชดเชยสิ่งที่ขาดมาในอดีตด้วย
          ด้านเศรษฐกิจมองว่า ศอบต.ต้องใช้กฎหมายในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ  และกล่าวว่าเกี่ยวกับภาษีปิโตรเลียม อย่างเขต เจดีเอ น่าจะตกกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนอย่างนราธิวาสด้วย
          สำหรับประเด็นการสาธารณสุขเห็นด้วยกับแนวทางป้องกันว่าดีกว่าการมุ่งรักษา และ  ฝากวาระกีฬา เข้าไปอยู่ ในวาระนี้ด้วยเพราะแก้ปัญหาอื่นๆเช่นยาเสพติดได้อีก
          ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี มองว่า ประเด็นการปกครองเป็นเรื่องที่ร้อนมาก ขณะนี้พี่น้องประชาชนตื่นตัวมาก สกัดกั้นไม่ได้แล้ว  เพราะประชาชนมีโอกาสเสนอกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายเยอะ แต่นำไปใช้ในทางกฎหมายน้อยมาก “รัฐบาลจะบอกว่าจะกระจายอำนาจ อย่างทั่วถึงภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกว้างๆ อย่างความคิดปัตตานีมหานคร ก็บอกว่ามาจากคนๆเดียว แสดงว่าไม่เอาปัตตานีมหานครแล้ว แต่จะกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ การเมืองก็เป็นอย่างนี้อยู่  อย่างแนวคิดว่าจะหยุดในวันตรุษจีน แสดงว่าจะต้องหยุดในวันสำคัญทางศาสนาอื่นด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ ผมจึงไม่ชี้รายละเอียด แต่ จะไปถึงจุดที่ว่า จะเป็นการปกครองที่กระจายอำนาจ ที่คำนึงถึงโครงสร้างของประชากร  นั่นจะทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้น”
          ประเด็นความยุติธรรมเขามองว่าตอนนี้มีกองทุนชดเชยต่างๆ เกิดขึ้น  แต่การเข้าถึงความยุติธรรม ยังน้อยมาก ไม่ถึงไหน จึงเกิดปัญหา  โอกาสสร้างความสงบสุขในชายแดนภาคใต้มี โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นตัวนำ  จึงควรทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เดินได้ พร้อมกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามา ส่วนปลีกย่อย ไม่สามารถแก้ด้วยยุติธรรมอย่างเดียวแต่อาจแก้ด้วย องค์กรอะไรสักอย่างหนึ่งที่มองในองค์รวมได้
          ด้านการศึกษามองว่า การศึกษาที่นี่  ระดับประถมศึกษาโรงเรียนรัฐบาล 80 % โรงเรียนเอกชน 20%  แต่พอถึงระดับมัธยมปรากฏว่าเป็นโรงเรียนเอกชน 70 % รัฐ 20-30% ต้องดูตรงนี้ ด้วยเพราะจะพลิกโครงสร้างคงไม่ได้ แต่จะหลอมรวม หรือยืดอย่างไร  ต้องทำ เป้าหมายของชาติให้เขาเห็นร่วมกันว่าจะเดินอย่างไร ในจุดเดียวกัน
          ด้านเศรษฐกิจเขากล่าวถึงกองทุนฮัจย์  ซากาต ว่าจะอยู่ใน พรบ.แต่ละเรื่อง ต้องนำเสนอต่อไป ในสภาผู้แทนราษฎร
“เราพูดกันมาก ที่จะผลักดัน  กองทุนการออมแห่งชาติ มีประเด็นว่าประชาชนรวมกันออมเงินเท่าไร รัฐจะเพิ่มเท่านั้น โดยมีคณะกรรมการระดับชาติมาดูแล ตรงนั้นผมต้องการให้มีกรรมการบริหารธนาคารอิสลามมาดูแล เพราะจะรู้ว่าจะบริหารเงินส่วนนี้อย่างไรโดยไม่ผิดหลักอิสลาม”
          นายมูฮำหมัดซุลฮัน  ลามะทา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงโครงสร้างการปกครองรัฐบาลมองว่า ศอ.บต. เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แก้ปัญหาในสามจังหวัด รัฐบาลต้องกล้าคิดกล้าทำ เพื่อแก้ปัญหา การกระจายอำนาจต้องมองว่ากระจายอย่างไร ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
          กระบวนการยุติธรรม  มองว่าทุกวันนี้ทนายความทั่วไปไม่กล้าว่าความให้ผู้ต้องหา ถ้ามีกระบวนการชัดเจนจะแก้ปัญหาได้
          การศึกษา มองว่าปัญหาประเด็นแรกที่ต้องคือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ไม่มีเวลาเรียนครบตามหลักสูตร ครูไม่สามารถมาสอนได้ตามกำหนด  ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงมีอยู่จึงจะเป็นวาระเร่งด่วนในการแก้ไข เพื่อทบทวนเรื่องเวลาเรียน เรื่องนวัตกรรมต่างๆที่ยังขาดแคลนอยู่
          ด้านเศรษฐกิจ พรรคชาติไทยพัฒนากำลังร่าง พรบ.ซากาต ส่ง ให้สภาฯพิจารณา ถ้าเกิดขึ้นจริงจะช่วยเศรษฐกิจและกำลังผลักดันการวิจัยการตลาด สำหรับผลิตผลการเกษตรในพื้นที จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะพัฒนาอย่างไร
          ด้านสังคม วัฒนธรรมมองว่าวันหยุดทางศาสนา ถ้าประกาศ หยุดต้องหยุดทั้งประเทศ  ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัด แต่มีทั่วประเทศ ต้องทำเหมือนกัน นำเสนอให้มีการพัฒนาศักยภาพอิหม่าม โดยมีมีวิทยาลัยอิหม่าม  เพื่อปรับวุฒิทางการศึกษาให้อิหม่าม มีความรู้เพิ่มนอกจากทางศาสนา มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม

          นายมูฮำมัดอารฟิน จะปะกิยา จากพรรคมาตุภูมิ เสนอให้ถอนทหารที่มาจากพื้นที่ต่างจังหวัด ออกจากชายแดนภาคใต้ คงไว้ทหารในพื้นที่ ประเด็นยุติธรรม เห็นว่าน่าจะมีองค์กรชัดเจนที่ประชาชนศรัทธา เพราะทุกวันนี้ประชาชนวิกฤติศรัทธา คนของรัฐ เพราะไม่มีความมั่นใจต่อคนของรัฐ หรือกระบวนการยุติธรรม
          ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้เกิดศูนย์ฮาลาลโลก สนับสนุนกองทุนซากาต  ด้านวัฒนธรรม มองว่าควรเดินตามวิถีชีวิต ของคนพื้นที่โดยไม่ทำลายอัตลักษณ์  และด้านสุขภาพเสนอจัดตั้งสถาบันฟื้นฟูยาเสพติด

          คุณมยุเรศ อร่ามรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. มองว่า หลายเรื่อง ศอ.บต.ได้ดำเนินการแล้วอย่างการศึกษาเสนองบไปกว่าพันล้าน เพื่อพัฒนาเด็กให้แข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ มีโครงการภาษาอาเซียน ฝึกมาลายู กลาง จีน อาหรับ อังกฤษ  และการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น
          “การย้ายข้าราชการ เรามีอำนาจพิจารณาบุคคลที่ไม่เหมาะสม สร้างเงื่อนไข  ออกจากพื้นที่”.

ถนอม ขุนเพ็ชร์ ...เรียบเรียง

โดย chonpadae on 17 ก.พ. 55 09.29

เวทีติดตามมตินโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อ16 ธันวาคม 2554 โรงแรมซี.เอส.จังหวัดปัตตานี
          เปิดฉากด้วย ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
กล่าวเรียกน้ำย่อยถึงข้อเสนอสมัชชาสุขภาพของพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีความเคลื่อนไหวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าเกี่ยวกับการแก้โครงสร้างในการปกครองภาคใต้  ที่มีโมเดลต่างๆ เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่ากว่า 8 โมเดลแล้ว และอาจมีข้อเสนอใหม่  นอกจากนั้นมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรมในภาคใต้ที่ ร่าง พ.ร.บ.ได้ลงนามโดยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว แต่ยังไม่ถึงกระบวนการรับรองใช้จะต้องตามต่อยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการศึกษา  ประเด็นเศรษฐกิจ  ประเด็นสังคม ประเพณี วัฒนธรรม  และประเด็นสุขภาพสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
          นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกล่าวเปิดงานวันนั้นว่า สุขภาพ กาย จิต สิ่งแวดล้อม เป็นองค์รวม สุขภาพเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่กับหมอหรือพยาบาล แต่ที่ผ่านมามักติดหล่มกับฝ่ายการเมือง “ก็คือข้อเสนอต่างๆไปอิงกับประโยชน์ของการเมือง  ถ้ามีประโยชน์กับรัฐบาลนั้นๆ เขาก็ส่งเสริมต่อ เปลี่ยนรัฐบาลที ต้องวิ่งหาแรงสนับสนุนที แล้วเราจะทำอะไร เพื่อแสดงถึงพลังประชาชน มีการพูดว่าเสียงประชาชน เป็นเสียงพระเจ้า แต่ในประเทศไทย ใช่หรือไม่”
          นายเสรีตั้งคำถามว่าทำให้ประชาชนเป็นใหญ่จริงทำได้อย่างไร  และการแปลงข้อเสนอประชาชนเพื่อเกิดผลในทางปฏิบัติ จะทำได้อย่างไร  “อย่างเรื่องที่เราทำกันอยู่นี้การขับเคลื่อนลงไปในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนจริงไหม เครือข่ายเราไปถึงหรือเปล่า  หรือลงไปในหมู่บ้านแล้วมีคนถามว่าสมัชชาสุขภาพ คืออะไร” เขาเห็นว่า การขับเคลื่อนขบวนการสมัชชาจะต้องออกมาในรูปแบบของสัญญาประชาคม ฉันทามติ เป็นข้อนำไปสู่ การปฏิบัติ เป็นกฏเกณฑ์ชัดเจนไม่ใช่มา นำเสนอเฉยๆไม่มีผลอะไรออกมา แบบที่คนมาประชุมเสร็จแล้วแยกย้ายกันไป นั่นไม่ใช่คำตอบสมัชชา ตรงกันข้ามกระบวนการจะผลักดันอย่างไรที่จะเกิดนำไปสู่การปฏิบัติ  “อย่างชุมชนในเมืองกับในหมู่บ้านไม่เหมือนกัน การขับเคลื่อนต่างกันตามสภาพ ต้องมีกระบวนการที่จะต้องช่วยกันคิดจากความแตกต่างกันนี้” นายเสรีกล่าวและว่า ต้องทำให้พลังสมัชชาสุขภาพ เป็นสมัชชาที่เป็นที่ยอมรับ แข็งแกร่ง นี่เป็นคำตอบเดียวเพราะผู้ที่เข้ามาอยู่ในสมัชชา เป็นผู้มีพลัง ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคท้องถิ่นต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนที่หนักแน่นและกระจายในเวลาที่รวดเร็ว  สำหรับพลังประชาชนต้องเป็นพลังบริสุทธิ์ไม่มีเงื่อนไขบางอย่างอยู่ข้างหลัง
          ทีวันนั้นมีการแบ่งกลุ่ม 6 ประเด็นสำคัญมีทีมวิชาการประจำกลุ่ม แต่ละกลุ่มได้ทบทวนข้อเสนอสมัชชา และมีข้อเสนอใหม่ ภาพรวมโดยสรุปดังนี้
กลุ่มโครงสร้างการปกครอง มีดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ เป็นทีมวิชาการ ผลจากการระดมความเห็น มองว่าการปกครองส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาของ จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 เรื่องคือ คนกับโครงสร้าง  ซึ่งกรณีโครงสร้างมีปัญหาการจัดการอำนาจ  จึงมีข้อเสนอการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญใน 3 ภาคส่วนคือ
- ภาคการเมืองให้นักการเมืองมีแนวทางสร้างความชัดเจนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเลือกตั้งที่มีอนาคต ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ทำให้เกิดการแข่งขัน ของพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนของพื้นที่
- ถ้ามีความชัดเจนภาคการเมือง จะสามารถตอบโจทย์ข้าราชการต่อโครงสร้างบริหารราชการโดยรวม  อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างได้ เช่นทำให้ข้าราชการในพื้นที่อย่างนายอำเภอสามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น เวลามีปัญหา สามารถสั่งการด้วยตัวเองได้ ควบคุ่ไปกับทำงานของ อปท. ต่างๆ
- ส่งเสริมการเกิดสภาซูรอในพื้นที่มุสลิมล้วนๆ แต่ถ้าพื้นที่ใดมุสลิมไม่ทั้งหมด ก็จะทำสภาในลักษณะที่คล้ายกัน
“ปัญหาแนวทางจัดการรูปแบบการปกครองในพื้นที่สามจังหวัดมีหลายเรื่องแต่ สรุปได้ว่าปัญหาที่ควรพิจารณาคือปัญหาเรื่องคน เนื่องจากว่าข้าราชการเองไม่ได้กำหนดวาระที่แน่นอน ทำให้มีการสร้างอิทธิพล สร้างอำนาจในพื้นที่ จึงเสนอให้ออกระเบียบ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหาร เช่น ข้าราชการประจำ อบต. ผู้ว่าราชการจังหวัด  ศาลจังหวัด  ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อก่อนเราคุยเรื่องนี้ไม่ได้มาก เพราะว่า ผู้ใหญ่มักไม่เห็นด้วย เพราะเขาจะคิดว่าเกี่ยวกับผลประโยชน์”
ตัวแทนกลุ่มได้นำเสนอและว่าโดยสรุปแล้วคือลดอำนาจ ความซับซ้อนของหน่วยงานและตำแหน่ง เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในพื้นที่ บางหน่วยงานอาจต้องยุบรวมให้เป็นเอกภาพมากขึ้น จึงจะไม่เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ที่สร้างปัญหาอีกเช่นกัน

กลุ่มข้อเสนอการปฏิรูประบบยุติธรรม  มี ดร.มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ ที่ปรึกษากลุ่ม นำเสนอว่าจากข้อเสนอสมัชชาครั้งที่ 1 เมื่อปี2551 เสนอไว้ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการในการร้องเรียน มีการเสนอเพิ่มเติมจากที่ผ่านมาโดยมติของกลุ่มดังนี้
1.ตั้งศูนย์อำนวยการความสะดวกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ ทางยุติธรรมในการเชื่อมศาลกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
2.จัดตั้งหน่วยงานย่อยของศาล เพื่อให้ชาวบ้านสามารถร้องเรียน ร้องทุกข์ ในคดีเล็กๆน้อยๆ เพื่อไกล่เกลี่ย
3.การจัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ต้องหาที่บริสุทธิ์ ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีหรือว่า ผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์ ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิได้รับ
4.การจ่ายค่าชดเชยให้กับจำเลยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจำเลยจะต้องมีการร้องขอ
5.เพิ่มช่องทางในการร้องด้านคดี ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมพื้นที่ ให้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางเหล่านั้น ให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง
6.ให้หน่วยงานที่รับร้องทุกข์ หรือคนกลาง ดำเนินการ ประสานกับผู้ร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จะได้รู้ว่าคดีไปถึงไหน
7.มีการให้ความรู้ด้านกฎหมายพื้นฐานให้แก่ประชาชน  เพราะชาวบ้านที่ถูกคดีความมั่นคงหรือคดีทั่วไป ชาวบ้านจะไม่กล้าเข้าไป เพื่อขอความเป็นธรรมและไม่รู้กระบวนการกฎหมาย

กลุ่มข้อเสนอประเด็นการศึกษา ดร.อิบรอฮีม ณรงค์เดชรักษาเขต ที่ปรึกษากลุ่ม
ได้มองร่วมกันว่าการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ยังมีปัญหาอยู่มาก การอ่านออกเขียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สาเหตุมาจากความหลากหลาย ความแตกต่างทางด้านฐานะ  จึงต้องจัดระบบเข้าสู่ รูปแบบที่ดี เทียบเท่ากับภาคอื่น  มีการเรียงลำดับความสำคัญของข้อเสนอนโยบายการศึกษาใหม่ ดังนี้
1.การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการศึกษา พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา  ให้เหมาะสมกับผู้เรียน  ขณะที่สถาบันการศึกษาเองต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษา
2.รัฐต้องพัฒนาและผลิตบุคลากรทางการศึกษา  ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงวิถีชีวิต ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความเข้าใจกัน ในระหว่างโรงเรียนและชุมชน  บุคลากรทางการศึกษาจะไม่ทำการใดๆ ที่ขัดกับความเชื่อทางศาสนา และธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของ ท้องถิ่น มีการส่งเสริม ผลักดันสถาบันของชุมชน เช่นสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษาให้มีบทบาทในการ จัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อปท. และชุมชน ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในท้องถิ่น ทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่
4.ส่งเสริม ให้ข้าราชการในพื้นที่เข้าใจในหลักความเชื่อและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาดูแลการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่มาดูแลการศึกษา ต้องเข้าใจวัฒนธรรมที่แท้จริง และต้องมีมาตรการต้องลงโทษบุคลากรทางการศึกษาหรือผู้รับผิดชอบการศึกษาในท้องที่ที่ไม่สนอง นโยบายของรัฐ
5.ให้มีการทบทวนเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ตาดีกา และปอเนาะให้มีความเหมาะสม
6.เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรทางการศึกษาเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน จัดการศึกษาให้มีคุณภาพ คุณธรรม
7.ใช้เทคโนโลนีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน
สำหรับข้อเสนอใหม่ทางการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ
1.ให้มีหน่วยงานที่ควบคุมดูแล กำกับวินัย  จริยธรรม ศีลธรรมและ ประพฤติ ความเสี่ยงของนักเรียนโดยจัดระบบสารวัตรนักเรียน
2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการศึกษาระดับอำเภอ จังหวัดที่ มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ให้ได้มาโดยการผ่านฉันทามติของผู้ได้รับใบอนุญาตของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก่อน

โดย chonpadae on 15 ก.พ. 55 11.38

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4
1. ความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ
2. การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น)
3. การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
4. การบรหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็ก อย่างยั่งยืนฯ
5. การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาฯ
6. การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยฯ

โดย chonpadae on 11 ก.พ. 55 00.49

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2555) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ภายในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554
ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ข่าวภัยพิบัติ เสพอย่างไรไม่ให้ตื่นตูม” โดยนายกิตติ สิงหาปัด บรรณาธิการข่าวสามมิติ น.ส.วิลาวัลย์ บุญจันทร์ อาสาสมัครจากกลุ่มไทยฟลัด
และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้

นายกิตติ กล่าวว่า เมื่อต้องติดตามข่าวภัยพิบัติ ผู้ชมหรือผู้ฟังต้องกระตือรือร้นในการหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตนเอง เพราะหากมีข้อมูลหรือหาความรู้ด้วยตนเองก็จะไม่ตื่นกับข่าว เช่น หากนำเสนอข่าวหมอดูว่ามีการทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในอีก 2- 3 วัน ซึ่งความจริง ตามหลักวิทยาศาสตร์ แผ่นดินไหวจะเกิดหรือไม่เกิดนั้น ไม่อาจทำนายได้ เพราะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเองก็อาจจะไม่เต็มร้อย ตนในฐานะสื่อมวลชนก็อาจจะไม่ได้เสนอข้อมูลอย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ตนก็พยายามนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด

บรรณาธิการข่าวสามมิติ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ภัยพิบัตินั้นตนได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.นำเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง 2.นำเสนอข้อมูลประกอบเสริมเพื่อให้ประชาชนใช้การตัดสินใจในการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติ 3.ผันตัวเองเป็นสื่อกลางในการระดมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เนื่องจากสื่อโทรทัศน์จะมีพลังมหาศาลในการะดมของบริจาค

“สิ่งที่เราจะรับผิดชอบและทำร่วมกันคือ การหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่”

ด้านน.ส.วิลาวัลย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับสถาณการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาคือ ข่าวสารที่ออกมานั้นมีจำนวนมากจนประชาชนไม่รู้จะเลือกเสพข่าวไหนหรือว่าจะเลือกเชื่อสื่อใด สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจะต้องใช้สติในการเสพสื่อ ไม่ตื่นตูม และจะต้องแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ต้องเชื่อตนเองและผลักดันให้คนที่มีหน้าที่ได้ทำหน้าที่ของเขา โดยเฉพาะคนเมืองต้องทลายกำแพง “ความเป็นคนเมือง” ของ และร่วมมือกับชุมชนหาแนวร่วมในการป้องกันตนเอง สร้างตนเองให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อรัฐไม่ดูแลเรา เราก็จะต้องร่วมมือกันเพื่อดูแลตนเองให้ได้

“การเสพสื่อ เราก็ควรที่จะมีการตรึกตรองอย่างหลายชั้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีนิวส์มีเดียเกิดขึ้นมากมาย เราก็สามารถตรวจสอบได้อีกทาง”

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคข้อมูลสารสนเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นล้นเกินออกมาเป็นจำนวนมาก การเสพสื่อในรูปแบบสื่อทั่วไป หลายคนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าดราม่า แต่สำหรับตนแล้ว เห็นว่า “ความเป็นดราม่า” ก็มีได้ตามธรรมชาติและวิธีการของสื่อนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญต้องมีคุณภาพและต้องให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงแก่ประชาชน

“เราจะต้องสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ (code of conduct) ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของสื่อ และสิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องคือ เราจะต้องติดอาวุธให้แก่ประชาชน ให้เขารู้เท่าทันสื่อที่เราเสพให้ได้ กสทช. เองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เราได้เตรียมการในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ เรายังได้เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบในลักษณะของช่องภัยพิบัติโดยเฉพาะ”

ที่มา http://www.thaireform.in.th/reform-the-news/item/7067-2012-02-04-08-04-00.html

โดย chonpadae on 11 ก.พ. 55 00.30

อดีตอธิบดีกรมชลฯ ย้ำศาสตร์ในหลวงต้องศึกษา ไม่ใช่นั่งมองเพดานแล้วเขียนแผน แนะให้นำหลักคิดไปต่อยอด จี้เลิกคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ยืนยันช่วยอะไรไม่ได้มาก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวในเวทีเสวนา “ศาสตร์พระราชากับการกู้วิกฤติชาติ” ที่จัดโดย คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (ศจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

นายปราโมทย์ กล่าวถึงศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนมาจากประสบการณ์ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น จนออกมาเป็นพระราชดำริ อันหมายถึง หลักคิด หลักธรรมหรือหลักทำ ที่เจ้าหน้าที่และประชาชน สมควรจะน้อมนำหลักคิดเหล่านั้นไปต่อยอด

“สิ่งที่พระองค์คิดและทำล้วนมาจากประสบการณ์ ไม่ใช่นั่งมองเพดานแล้วออกมาเป็นแผน เหมือนในสมัยนี้ ที่เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานมองเพดานแล้วเขียนแผน ในศาสตร์ของพระองค์ การจะคิดหรือทำอะไรต้องลงพื้นที่ ศึกษาจึงจะสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ไม่ใช่ลากจอบลากเสียมมาทำเลย”

นายปราโมทย์  กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหลักคิดไว้ครบหมดแล้วทุกด้าน แต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาไม่ได้นำมาปฏิบัติ ไม่รู้ว่าเป็น "ธรรมชาติในการบริหารแผ่นดิน" ไปแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ได้เน้นเหลือเกินว่าศาสตร์ของในหลวงควรต้องมีการต่อยอด เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุน้ำท่วมทุ่งก็โจมตีมาหลายปี ซึ่งในพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีของ มีเส้นทางระบายน้ำทางธรรมชาติ อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยสร้างคันกั้นน้ำพระราชดำริไว้

“อย่างในปี 2538 ก็เอาอยู่ สามารถสู้สถานการณ์ได้โดยทางระบายน้ำธรรมชาติ กระทั่งวันนี้เมื่อเวลาผ่านไป 17 ปี กลับไม่มีการดูแล เคยใช้กระสอบทรายกั้นอยู่เช่นไร ก็ยังใช้อยู่อย่างนั้น เมื่อระบบอ่อนแอในขณะที่น้ำเข้าโจมตีจนล้นตลิ่ง คันกั้นน้ำพระราชดำริที่ไม่ได้รับการดูแลจึงต้านไม่อยู่”

นายปราโมทย์ กล่าวถึงการเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการกยน.ด้วยว่า ได้พยายามนำเอาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปนำเสนอ เพื่อให้นำไปคิดต่อยอด แต่ธรรมชาติของคณะกรรมการไม่ว่าจะชุดใด เรื่องใดก็ตามก็เป็นระบบที่ไม่รู้จะเรียกหรือบัญญัติว่าอย่างไรดี กรรมการนานๆ ทีจึงจะเข้ามาร่วมกันคิด ทั้งที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องเกาะติดทุกวัน

“เท่าที่เห็นมีแต่การพูด เช่น การมาประกาศว่าจะสร้างฟลัดเวย์ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและเผยแพร่ให้ชาวบ้านรับรู้ และในปีนี้ (2555) ทั้งเขตบางบัวทองหรือรังสิต สถานการณ์ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ขณะนี้ คือ ศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ของในหลวง ช่วยกันเชียร์และกระตุ้นพวกที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้นำไปคิดต่อยอด เพราะระบบราชการในวันนี้ไม่ถูกทิศถูกทาง เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้หมดสตางค์”

อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า การจัดทำพิมพ์เขียว เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำออกมาให้เป็นรูปธรรมแม้จะต้องใช้เวลา ซึ่งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอุทกภัย ควรยึดหลัก 3 สูตร ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์สู้ภัย คือ การเร่งขับเคลื่อนมวลน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว

“คลองที่ทุกคนรู้จัก คุ้นเคยและเป็นข่าวบ่อยๆ ในขณะนี้ ล้วนเป็นคลองแนวขวางเพื่อการเกษตร แต่คลองแนวดิ่งอันเป็นทางระบายน้ำลงทะเลกลับสูญหายและกลายเป็นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกทั้ง แผนต่างๆ ของรัฐบาลเท่าที่เห็นก็ยังไม่ชัดเจน เห็นแต่ตัวแผนแต่อธิบายไม่ถูก อย่างไรก็ตามในปีนี้ (2555) ประชาชนก็อย่าเพิ่งตกใจ ให้ติดตามสถานการณ์ไว้อย่างมีสติและใช้ปัญญารู้คิด อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เช่น กรณีการตื่นตัวเรื่องพ่อปลาบู่ ก็เรียกได้ว่าไม่มีสติ”

2.ต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับธรรมชาติ และสอดคล้องกับความเป็นไปของธรรมชาติเพราะการจะไปก่อสร้างการป้องกันขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น ควรจะเลิกคิดได้แล้ว เนื่องจากแก้อะไรไม่ได้มาก

3.การหนี ต้องประเมินสถานการณ์ ยิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่ตั้งถิ่นฐานผิด อยู่ในที่ต่ำทางผ่านน้ำ เช่น พื้นที่ที่น้ำป่าไหลหลาก ต้องมีการย้ายถิ่นฐานใหม่ แต่สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เราจะร่วมกันสู้อย่างเต็มที่ หรือจะมัวสนใจความคิดว่าจะย้ายเมืองหลวง ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป

ที่มา http://www.thaireform.in.th/reform-the-news/item/7057-2012-02-02-09-33-07.html

โดย chonpadae on 11 ก.พ. 55 00.09

“ราษฎรอาวุโส” เสนอ 6 แนวทางในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เน้นจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างก้าวกระโดด ย้ำคนไทยต้องร่วมมือกล้าเผชิญวิกฤต ตั้งคณะกก.ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน ด้าน“ภาครัฐ” ยัน พร้อมรับมติจากทุกภาคส่วนที่นำประโยชน์สู่ปชช.

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ  ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ และราษฎรอาวุโส แสดงปาฐกถาในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ในหัวข้อ "รับมือภัยพิบัติ จัดการสุขภาวะ" ว่าภัยพิบัติถือเป็นภัยหลวงที่กระทบต่อสุขภาวะของคนไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องเผชิญกับภาวะนี้อีกอย่างน้อย 20 ปี พร้อมระบุภัยพิบัติไม่ได้มีเพียงภัยธรรมชาติ แต่ภัยพิบัติคือการบรรจบของวิกฤตต่างๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิกฤตการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการแย่งชิงทรัพยากร

55 items(1/6) 2 3 4 5 Next » Last »|