ข้อเสนอใหม่จากชายแดนใต้ ประเด็นโครงสร้างปกครองยังมาแรง(1)

by chonpadae @17 ก.พ. 55 09.29 ( IP : 182...15 ) | Tags : จับกระแสสมัชชา , สมัชชาสุขภาพภาคใต้

เวทีติดตามมตินโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อ16 ธันวาคม 2554 โรงแรมซี.เอส.จังหวัดปัตตานี
          เปิดฉากด้วย ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
กล่าวเรียกน้ำย่อยถึงข้อเสนอสมัชชาสุขภาพของพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีความเคลื่อนไหวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าเกี่ยวกับการแก้โครงสร้างในการปกครองภาคใต้  ที่มีโมเดลต่างๆ เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่ากว่า 8 โมเดลแล้ว และอาจมีข้อเสนอใหม่  นอกจากนั้นมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรมในภาคใต้ที่ ร่าง พ.ร.บ.ได้ลงนามโดยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว แต่ยังไม่ถึงกระบวนการรับรองใช้จะต้องตามต่อยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการศึกษา  ประเด็นเศรษฐกิจ  ประเด็นสังคม ประเพณี วัฒนธรรม  และประเด็นสุขภาพสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
          นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกล่าวเปิดงานวันนั้นว่า สุขภาพ กาย จิต สิ่งแวดล้อม เป็นองค์รวม สุขภาพเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่กับหมอหรือพยาบาล แต่ที่ผ่านมามักติดหล่มกับฝ่ายการเมือง “ก็คือข้อเสนอต่างๆไปอิงกับประโยชน์ของการเมือง  ถ้ามีประโยชน์กับรัฐบาลนั้นๆ เขาก็ส่งเสริมต่อ เปลี่ยนรัฐบาลที ต้องวิ่งหาแรงสนับสนุนที แล้วเราจะทำอะไร เพื่อแสดงถึงพลังประชาชน มีการพูดว่าเสียงประชาชน เป็นเสียงพระเจ้า แต่ในประเทศไทย ใช่หรือไม่”
          นายเสรีตั้งคำถามว่าทำให้ประชาชนเป็นใหญ่จริงทำได้อย่างไร  และการแปลงข้อเสนอประชาชนเพื่อเกิดผลในทางปฏิบัติ จะทำได้อย่างไร  “อย่างเรื่องที่เราทำกันอยู่นี้การขับเคลื่อนลงไปในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนจริงไหม เครือข่ายเราไปถึงหรือเปล่า  หรือลงไปในหมู่บ้านแล้วมีคนถามว่าสมัชชาสุขภาพ คืออะไร” เขาเห็นว่า การขับเคลื่อนขบวนการสมัชชาจะต้องออกมาในรูปแบบของสัญญาประชาคม ฉันทามติ เป็นข้อนำไปสู่ การปฏิบัติ เป็นกฏเกณฑ์ชัดเจนไม่ใช่มา นำเสนอเฉยๆไม่มีผลอะไรออกมา แบบที่คนมาประชุมเสร็จแล้วแยกย้ายกันไป นั่นไม่ใช่คำตอบสมัชชา ตรงกันข้ามกระบวนการจะผลักดันอย่างไรที่จะเกิดนำไปสู่การปฏิบัติ  “อย่างชุมชนในเมืองกับในหมู่บ้านไม่เหมือนกัน การขับเคลื่อนต่างกันตามสภาพ ต้องมีกระบวนการที่จะต้องช่วยกันคิดจากความแตกต่างกันนี้” นายเสรีกล่าวและว่า ต้องทำให้พลังสมัชชาสุขภาพ เป็นสมัชชาที่เป็นที่ยอมรับ แข็งแกร่ง นี่เป็นคำตอบเดียวเพราะผู้ที่เข้ามาอยู่ในสมัชชา เป็นผู้มีพลัง ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคท้องถิ่นต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนที่หนักแน่นและกระจายในเวลาที่รวดเร็ว  สำหรับพลังประชาชนต้องเป็นพลังบริสุทธิ์ไม่มีเงื่อนไขบางอย่างอยู่ข้างหลัง
          ทีวันนั้นมีการแบ่งกลุ่ม 6 ประเด็นสำคัญมีทีมวิชาการประจำกลุ่ม แต่ละกลุ่มได้ทบทวนข้อเสนอสมัชชา และมีข้อเสนอใหม่ ภาพรวมโดยสรุปดังนี้
กลุ่มโครงสร้างการปกครอง มีดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ เป็นทีมวิชาการ ผลจากการระดมความเห็น มองว่าการปกครองส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาของ จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 เรื่องคือ คนกับโครงสร้าง  ซึ่งกรณีโครงสร้างมีปัญหาการจัดการอำนาจ  จึงมีข้อเสนอการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญใน 3 ภาคส่วนคือ
- ภาคการเมืองให้นักการเมืองมีแนวทางสร้างความชัดเจนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเลือกตั้งที่มีอนาคต ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ทำให้เกิดการแข่งขัน ของพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนของพื้นที่
- ถ้ามีความชัดเจนภาคการเมือง จะสามารถตอบโจทย์ข้าราชการต่อโครงสร้างบริหารราชการโดยรวม  อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างได้ เช่นทำให้ข้าราชการในพื้นที่อย่างนายอำเภอสามารถทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น เวลามีปัญหา สามารถสั่งการด้วยตัวเองได้ ควบคุ่ไปกับทำงานของ อปท. ต่างๆ
- ส่งเสริมการเกิดสภาซูรอในพื้นที่มุสลิมล้วนๆ แต่ถ้าพื้นที่ใดมุสลิมไม่ทั้งหมด ก็จะทำสภาในลักษณะที่คล้ายกัน
“ปัญหาแนวทางจัดการรูปแบบการปกครองในพื้นที่สามจังหวัดมีหลายเรื่องแต่ สรุปได้ว่าปัญหาที่ควรพิจารณาคือปัญหาเรื่องคน เนื่องจากว่าข้าราชการเองไม่ได้กำหนดวาระที่แน่นอน ทำให้มีการสร้างอิทธิพล สร้างอำนาจในพื้นที่ จึงเสนอให้ออกระเบียบ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหาร เช่น ข้าราชการประจำ อบต. ผู้ว่าราชการจังหวัด  ศาลจังหวัด  ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อก่อนเราคุยเรื่องนี้ไม่ได้มาก เพราะว่า ผู้ใหญ่มักไม่เห็นด้วย เพราะเขาจะคิดว่าเกี่ยวกับผลประโยชน์”
ตัวแทนกลุ่มได้นำเสนอและว่าโดยสรุปแล้วคือลดอำนาจ ความซับซ้อนของหน่วยงานและตำแหน่ง เหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในพื้นที่ บางหน่วยงานอาจต้องยุบรวมให้เป็นเอกภาพมากขึ้น จึงจะไม่เกิดการแย่งชิงทรัพยากร ที่สร้างปัญหาอีกเช่นกัน

กลุ่มข้อเสนอการปฏิรูประบบยุติธรรม  มี ดร.มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ ที่ปรึกษากลุ่ม นำเสนอว่าจากข้อเสนอสมัชชาครั้งที่ 1 เมื่อปี2551 เสนอไว้ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการในการร้องเรียน มีการเสนอเพิ่มเติมจากที่ผ่านมาโดยมติของกลุ่มดังนี้
1.ตั้งศูนย์อำนวยการความสะดวกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ ทางยุติธรรมในการเชื่อมศาลกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
2.จัดตั้งหน่วยงานย่อยของศาล เพื่อให้ชาวบ้านสามารถร้องเรียน ร้องทุกข์ ในคดีเล็กๆน้อยๆ เพื่อไกล่เกลี่ย
3.การจัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ต้องหาที่บริสุทธิ์ ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีหรือว่า ผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์ ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิได้รับ
4.การจ่ายค่าชดเชยให้กับจำเลยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจำเลยจะต้องมีการร้องขอ
5.เพิ่มช่องทางในการร้องด้านคดี ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมพื้นที่ ให้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางเหล่านั้น ให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง
6.ให้หน่วยงานที่รับร้องทุกข์ หรือคนกลาง ดำเนินการ ประสานกับผู้ร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จะได้รู้ว่าคดีไปถึงไหน
7.มีการให้ความรู้ด้านกฎหมายพื้นฐานให้แก่ประชาชน  เพราะชาวบ้านที่ถูกคดีความมั่นคงหรือคดีทั่วไป ชาวบ้านจะไม่กล้าเข้าไป เพื่อขอความเป็นธรรมและไม่รู้กระบวนการกฎหมาย

กลุ่มข้อเสนอประเด็นการศึกษา ดร.อิบรอฮีม ณรงค์เดชรักษาเขต ที่ปรึกษากลุ่ม
ได้มองร่วมกันว่าการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ยังมีปัญหาอยู่มาก การอ่านออกเขียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สาเหตุมาจากความหลากหลาย ความแตกต่างทางด้านฐานะ  จึงต้องจัดระบบเข้าสู่ รูปแบบที่ดี เทียบเท่ากับภาคอื่น  มีการเรียงลำดับความสำคัญของข้อเสนอนโยบายการศึกษาใหม่ ดังนี้
1.การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการศึกษา พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา  ให้เหมาะสมกับผู้เรียน  ขณะที่สถาบันการศึกษาเองต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษา
2.รัฐต้องพัฒนาและผลิตบุคลากรทางการศึกษา  ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงวิถีชีวิต ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความเข้าใจกัน ในระหว่างโรงเรียนและชุมชน  บุคลากรทางการศึกษาจะไม่ทำการใดๆ ที่ขัดกับความเชื่อทางศาสนา และธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของ ท้องถิ่น มีการส่งเสริม ผลักดันสถาบันของชุมชน เช่นสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษาให้มีบทบาทในการ จัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อปท. และชุมชน ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในท้องถิ่น ทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่
4.ส่งเสริม ให้ข้าราชการในพื้นที่เข้าใจในหลักความเชื่อและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาดูแลการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่มาดูแลการศึกษา ต้องเข้าใจวัฒนธรรมที่แท้จริง และต้องมีมาตรการต้องลงโทษบุคลากรทางการศึกษาหรือผู้รับผิดชอบการศึกษาในท้องที่ที่ไม่สนอง นโยบายของรัฐ
5.ให้มีการทบทวนเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ตาดีกา และปอเนาะให้มีความเหมาะสม
6.เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรทางการศึกษาเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน จัดการศึกษาให้มีคุณภาพ คุณธรรม
7.ใช้เทคโนโลนีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน
สำหรับข้อเสนอใหม่ทางการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ
1.ให้มีหน่วยงานที่ควบคุมดูแล กำกับวินัย  จริยธรรม ศีลธรรมและ ประพฤติ ความเสี่ยงของนักเรียนโดยจัดระบบสารวัตรนักเรียน
2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการศึกษาระดับอำเภอ จังหวัดที่ มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ให้ได้มาโดยการผ่านฉันทามติของผู้ได้รับใบอนุญาตของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก่อน

Relate topics