การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชนภาคใต้:การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดย ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล และผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร

photo  , 123x87 pixel , 3,712 bytes.

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณ (Qualitative Research) เพื่อศึกษาปัญหา สาเหตุพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของเด็กและเยาวชน และแนวทางปฏิบัติของภาคีเครือข่ายให้บรรลุผลเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติใน4 จังหวัด ภาคใต้ตอนบน ได้แก่จังหวัด กระบี่ ระนอง พังงา และนครศรีธรรมราช กลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้ในการวิจัยนี้  เจาะจงเลือกอำเภอ และตำบลใน 4 จังหวัด ที่มีโรงเรียนสอนเพศศึกษา มีทั้งหมด 30 คน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้บริหาร ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัด  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด  ผอ.การศึกษานอกระบบ  ผอ.พื้นที่เขตศึกษา ผอ.โรงเรียน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) กลุ่มผู้ปฏิบัติระดับ ได้แก่ ครูในโรงเรียน ครู กศน. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อบต.ที่รับผิดชอบงานเด็ก และเจ้าหน้าที่ พมจ. และ 3) กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และชุมชน ดำเนินการโดย การสัมภาษณ์เจาะลึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมสมอง เสนอแนะแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่สามารถเป็นรูปธรรมได้จริง ผลการศึกษา พบว่า 1) เด็กและเยาวชนภาคใต้ตอนบน มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การท้องและทำแท้งในวันเรียน  รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า ประชดสังคม  จนถึงฆ่าตัวตาย และพบว่ามีเด็กที่ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ กับคนใกล้ชิด ทั้งที่บ้าน โรงเรียน หรือที่อื่นๆ 2) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของเด็กและเยาวชนเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ ตัวเด็กเองและเพื่อน  ที่มีค่านิยมที่เปลี่ยนไป อยากลองมากขึ้น  ตามเพื่อน มีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ แต่ขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ  ครอบครัว  ขาดความอบอุ่น  รวมทั้งขาดการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว ระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิตน้อย และสภาพแวดล้อม  ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีการกระจายและเผยแพร่ได้อย่างอิสระ ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อที่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ พฤติกรมทางเพศได้ง่าย จึงเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เยาวชนมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้เรื่องเพศและมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้น เป็นผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และ 3)การนำนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพทางเพศของเด็กและเยาวชน 3.1)สถานศึกษา มีความสำคัญต่อการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ ด้านเพศศึกษาที่รอบด้าน (Comprehensive sexuality education) ต้องมีหนังสือสั่งการที่ชัดเจน ทั้งระดับเขตพื้นที่ อำเภอ และตำบล  เปิดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหาร และ มีการอบรมครู การจัดการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน ควรเริ่มต้นด้วยอาจารย์ที่มีจิตอาสา  โดยมีผู้บริหารคอยหนุนเสริม มีนโยบายให้วิชาเพศศึกษาเป็นวิชาบังคับ และครูกศน. ควรมีการอบรมให้สามารถออกแบบการเรียนรู้เพศศึกษา  ในรายวิชาทักษะชีวิตหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้ง สนันสนุนการทำโครงงาน/กิจกรรมและจัดเวทีให้เยาวชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  3.2)สถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาล  มีนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบให้การปรึกษาทุกระบบ เช่น การจัดบริการที่หลากหลายเป็นมิตรแก่วัยรุ่น  การสนับสนุนการทำงานของศูนย์พึ่งได้ (OSCC: One Stop Crisis Center) (ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีภาวะวิกฤติ) ศูนย์บริการที่เป็นมิตร ศูนย์ให้คำปรึกษา ๒๔ ชั่วโมง มีข้อเสนอแนะ คือ  มีแผนและนโยบายของโรงพยาบาลชัดเจน  มีการสนับสนุนบุคลากร  มีการสนับสนุน/ติดตามหนุนเสริม  มีการประชาสัมพันธ์ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรว่ามีการจัดให้บริการที่เป็นมิตรแก่วัยรุ่น  รับสมัครบุคลากรที่มีจิตอาสา  เพราะงานบริการเหล่านี้เป็นงานที่ทำจากใจ จัดอบรมแก่บุคลากร  ที่จะมารับผิดชอบงานด้านนี้ ให้เกิดความเข้าใจ และเชี่ยวชาญพอที่จะมาทำกิจกรรมเหล่านี้  และ 3.3)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีนโยบายที่สำคัญ คือการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศและการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชน พบว่าการดำเนินงานขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้บริหาร อบต. ที่จะใช้วิสัยทัศน์หรือความเข้าใจมากน้อยเพียงใด สำหรับมาตรการทางสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในวัยรุ่น พบว่ายังไม่มีมาตรการในรูปแบบที่ถาวรแต่จะทำเฉพาะเรื่อง เช่น หากเกิดปัญหากับกลุ่มวัยรุ่น ก็จะมาร่วมกันพิจารณาว่าปัญหาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด