กำหนดการเวที สร้างสำนึกท้องถิ่น ด้วยวิถีคนลุ่มน้ำภาคใต้

โครงเวทีสมัชชาสุขภาพ ประเด็น “นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้”

หลักการและเหตุผล

“ลุ่มน้ำ” เป็นระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ราบ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล แม่น้ำคือสายธารแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนและสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่พึ่งพาฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตั้งแต่บริเวณสันปันน้ำ ซึ่งรองรับน้ำฝนของแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสายย่อย แล้วรวมกันออกสู่แม่น้ำสายใหญ่ ไหลลงไปที่แม่น้ำสายหลักในที่สุด ดังนั้นการจัดการลุ่มน้ำที่ทำให้ลุ่มน้ำนั้นมีน้ำที่มีปริมาณเพียงพอสม่ำเสมอตลอดปี จำเป็นต้องมีการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การรักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต้องมีทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่พึ่งพาฐานทรัพยากรและการใช้ที่ดินให้สอดคล้องเหมาะสมกับระบบนิเวศลุ่มน้ำนั้น ๆ

ระบบนิเวศของป่าทางภาคใต้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบนิเวศลุ่มน้ำ ตามความสูงต่ำของพื้นดิน

ลักษณะของอากาศและอุณหภูมิของโครงสร้างของประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นเป็นป่าฝนเขตร้อน (tropical rainforests ) หรือ ป่าดงดิบ จึงทำให้ลุ่มน้ำทางภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งโดยปริมาณฝนที่ตกลงมาในลุ่มน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์

วิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำภาคใต้มีวัฒนธรรมการพึ่งพาแม่น้ำ และคลองต่างๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายใหญ่ และชายฝั่งทะเล จึงทำให้เมื่อมีปัญหาของป่าต้นน้ำถูกทำลาย มีการสร้างเขื่อน ขุดลอกคูคลอง ดูดทราย ตลิ่งพัง และมีมลพิษ ของเสียในแม่น้ำและคลอง มีการทำลายป่าชายเลน ตลอดจนการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทำให้การสร้างเครือข่ายขององค์กรชุมชนในแต่ละระบบนิเวศต้องดูแลรักษาลุ่มน้ำในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและวิถีชีวิต เมื่อมีปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลต่อการทำลายฐานอาหารของชุมชน จึงทำให้องค์กรชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในลุ่มน้ำตั้งแต่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าบริเวณแม่น้ำตอนกลาง ระบบนิเวศน้ำกร่อย และชายฝั่งทะเล สร้างเป็นเครือข่ายเรียนรู้แลกเปลี่ยนและร่วมกันดูแลรักษาลุ่มน้ำ

โครงเวทีสมัชชาสุขภาพ ประเด็น “นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้” ได้จัดขึ้นมาเพื่อนำเสนอให้สาธารณชนเห็นว่า การจัดการลุ่มน้ำของชุมชนภาคใต้ดำเนินการได้ดีและมีศักยภาพในการจัดการลุ่มน้ำร่วมกันได้สำหรับลุ่มน้ำสายย่อย และมีการรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนในแต่ละระบบนิเวศ ซึ่งประสบปัญหาใกล้เคียงและเหมือนกัน ตามโซนของแต่ละระบบนิเวศในลุ่มน้ำสายย่อยนั้นๆ กระบวนการเรียนรู้ปัญหา การวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา การเรียนประสบการณ์และความรู้จากพื้นที่อื่นๆ ทำให้องค์กรชุมชนได้ตระหนักในความสำคัญของการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำ และการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนในการจัดการลุ่มน้ำร่วมกัน และอยู่บนฐานความสัมพันธ์ของชุมชนในลักษณะเกลอเขา นา เล

ในขณะที่การจัดการลุ่มน้ำของภาครัฐ มีการดำเนินการตามโครงสร้างของการปกครองในรูปของคณะกรรมการ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และในขอบเขตของ ๒๕ ลุ่มน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของวัฒนธรรมชุมชน และถ้ามีการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำรองรับอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรชุมชนด้วยกัน

ดังนั้นนโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ จึงมีความจำเป็นที่สังคมต้องเรียนรู้อย่างเข้าใจว่าโดยข้อเท็จจริงองค์กรชุมชนมีศักยภาพในการจัดการลุ่มน้ำสายย่อยซึ่งมีความสัมพันธ์วัฒนธรรมของเครือข่ายญาติพี่น้องและการตั้งถิ่นฐานของชุมชน กระบวนการจัดการลุ่มน้ำมาจากฐานของการเรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางการแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมเป็นสำคัญ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และข้อเสนอการจัดการลุ่มน้ำชุมชนภาคใต้จัดทำเป็นนโยบายสาธารณะของชุมชน และนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย
  2. เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ขององค์กรชุมชนในลุ่มน้ำภาคใต้ ที่นำไปสู่การจัดการฐานทรัพยากรและฐานอาหารในลุ่มน้ำภาคใต้อย่างยั่งยืน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. มีเอกสารนำเสนอนโยบายสาธารณะของการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้
  2. องค์กรชุมชนลุ่มน้ำภาคใต้ได้สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  3. ผู้กำหนดนโยบายและสังคมไทยได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอนโยบายสาธารณะของการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ และมีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติการ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา(สจน.) ที่อยู่ 7/26 ม.6 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง โทรศัพท์ 081-4939535 Email: noksayamol@yahoo.com
  2. นายสัญญา รักขพันธ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา(สจน.) ที่อยู่ 7/26 ม.6 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง โทรศัพท์ 089-4647991

กำหนดการเวที“สร้างสำนึกท้องถิ่น ด้วยวิถีคนลุ่มน้ำภาคใต้”

2 เมษายน 2552

ณ ห้องประชุมใหญ่ธรรมโฆษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

2 เมษายน 2552

08.30 – 09.30 น. ลงทะเบียน

09.30 – 09.40 น. การแสดงจากเยาวชนรักษ์คลองปริกต้นน้ำคลองอู่ตะเภา

09.40 – 10.00 น. ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีและนำเสนอ “นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ โดย ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา

10.00 – 12.30 น. นำเสนอรูปธรรมของพื้นที่การจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน โดย

  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำเทพา จังหวัดสงขลา
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำคลองภูมี จังหวัดสงขลา
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คาบสมุทรสทิงพระ
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำตรัง จังหวัดตรัง
  • ผู้แทนชุมชนลุ่มน้ำสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ดำเนินรายการโดย กำราบ พานทอง สถาบันศานติธรรม

12.30 – 13.30 น. พักรับประทานอาหารเที่ยง

13.30 – 15.30 น. นำเสนอนโยบายการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโดยชุมชน โดย

  • นายวีรวัฒน์ ธีรประศาสน์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.)
  • หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
  • พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน
  • จินดา บุญจันทร์ ผู้แทนลุ่มน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร
  • ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ
  • ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำทางทะเลและชายฝั่ง

ดำเนินรายการโดย นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ

15.30 – 16.30 น. แลกเปลี่ยนร่วมกัน

16.30 – 17.00 น. สรุปการสัมมนาและกล่าวปิดงานโดย อ.นุกูล รัตนดากุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

หมายเหตุ กรุณาเตรียมผ้าห่ม ผ้าขนหนู ของใช้ส่วนตัว มาเอง,ทีมจัดงาน จัดเข้าพักหอพักนักศึกษา เตียง 2 ชั้น ห้องละ 4 คน,ส่วนอาหารเป็นมังสะวิรัติ์และเครื่องดื่มสมุนไพร / ส่วนราชการเบิกค่าเดินทางต้นสังกัด

Relate topics